พระเครื่องทั้งหมด 3760 ชิ้น
ตะกร้าพระเครื่อง : ( 0 )
สารบัญหลัก
พระท่านเจ้าคุณนรฯ (1382) พระเครื่องอื่น ๆ (964) เครื่องรางของขลัง (10) พระบูชา (67)
บทความ
ประวัติสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ประวัติท่านเจ้าคุณนรฯ
ประวัติสมเด็จพระวันรัต
ตำนานพระพุทธรูป
หลัการดูพระเบื้องต้น
เปิดโลกสมเด็จ
เปิดโลกพระกรุ
ทำเนียบสมเด็จพระสังฆราชไทย
ประวัติการสร้างพระเครื่อง
อ่านบทความทั้งหมด
กระดานสนทนา
เว็บบอร์ดพระวัดเทพศิรินทราวาส เว็บบอร์ดพระทั่วไป ซื้อขายแลกเปลี่ยน
เมนูช่วยเหลือ
วิธีการบูชา วิธีการชำระเงิน คำถาม-ตอบ เกี่ยวกับเรา แผนที่ร้านฯ ติดต่อเรา นโยบายคุกกี้
อัตราแลกเปลี่ยน
ตรวจสอบการจัดส่งสินค้า
 
ชำระผ่านธนาคาร ธ.ไทยพาณิชย์ 114-2-16175-0 ธ.กรุงเทพ 905-0-00725-2 ธ.กรุงไทย 086-037-0-04433-9


สมเด็จในความรู้สึกของข้าพเจ้า

สมเด็จฯ ในความรู้สึกของข้าพเจ้า

โดย...พุทฺธทาส  อิทปญโญ

......ข้าพเจ้าขอภาวนา  ให้บรรดาผู้นำทั้งหลายจะเป็นผู้นำหมู่คณะหรือนำโลก ก็ดี,  จงได้มีคุณธรรมเหล่านี้เพื่อให้ทุกคนที่อยู่ในขอบข่ายที่อาจจะช่วยเหลือกันได้   ได้รับความเห็นอกเห็นใจ  ด้วยเมตตาที่ประกอบด้วยธรรม  อย่างเพียบพร้อมด้วยเถิด,  และถ้าเป้นไปได้ขอใหท่านเจ้าพระคุณสมเด็จนั่นเหละได้มาเกิด เป็นผู้นำในทางวิญญาณ ในขณะที่โลกกำลังเต็มไปด้วยวิกฤติกาล อันโหดร้ายยิ่งขึ้นทุกทีนี้เทอญฯ

 

          ตามความรู้สึกของข้าพเจ้า ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จท่านตั้งอยู่ในฐานะปูชนียบุคคลพิเศษ เกินกว่าที่พวกเราจะหยั่งลึกถึงส่วนลึก แห่งจิตภาวะหรือสติปัญญาของท่านได้ ยิ่งโดยเฉพาะคุณธรรมของท่านแล้วก็ยิ่งหยั่งถึงยากยิ่งขึ้นไปอีก  ดังนั้นเมื่อเราถือเอาตามความรู้สึกของเรา  แล้วบรรยายอะไรออกไป ก็มีส่วนที่ผิดพลาดจากความเป็นจริงเป็นการ  "  พูดผิด-ทำผิด"  ต่อสภาพจริงแท้ของท่านไป โดยไม่รู้สึกตัว  ก็มีทางที่จะเป็นไปได้ ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อข้าพเจ้าได้รับคำขอร้องจากบางท่านที่ขอร้องให้ข้าพเจ้าเขียนบรรยายเกียรติคุณของท่านอย่างที่ไม่ยอมให้หลีกเลี่ยงเช่นนี้  ข้าพเจ้าก็มีความรู้สึกที่เรียกได้ว่า  "ถูกบังคับ"  ให้ทำอันตรายแก่ตัวเอง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นเดียวกับพวกเราเด็กๆ บ้านนอกในสมัยข้าพเจ้ายังเป็นเด็ก จะร้องอุทานกันออกมาว่า  "กรรมแล้ว แก้วตาเอ๋ย" ซึ่งยังติดหูอยู่จนกระทั่งบัดนี้ ไม่มากก็น้อย ที่จริงนั้น ถ้าเราจะไม่บรรยายอะไรกันเสียเลย นั่นแหละบางทีเราอาจจะยังคงรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของท่านไว้ได้มากกว่า.  อนึ่ง ถ้าเราเกิดสะเพร่ากัน จนถึงกับว่าใครอยากจะบรรยายอะไร  ก็ว่าตามใจชอบแล้วน่ากลัวว่ามันจะกลายเป็นการระดมกันป้ายสีพระพุทะรูปที่งามผุดผ่องหาที่ติมิได้อยู่แล้ว  ให้กลายเป็นอะไรไปเสียแล้วก็ได้  นี้คือความรู้สึก  ที่ยังคงมีอยู่ในใจของข้าพเจ้า  แม้ในขณะที่กำลังเขียนคำบรรยายนี้  ตามคำขอร้องที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้จากบุคคลที่เป็นศิษย์ของเจ้าพระคุณสมเด็จอย่างสุดชีวิตจิตใจอันเป็นที่รู้ๆ กันอยู่  นี้ไม่ใช่คำออกตัวหากแต่เป็นคำขอร้องที่ทุกคนจะต้องสังวรไว้  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นสาราณียกร  คือ  ผู้รวบรวมเรื่องนี้ขึ้นพิมพ์โฆษณา  ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบอยู่โดยอัตโนมัติ

          ในข้อความเก่าๆ เราจะได้พบว่า  เมื่อพระเกจิอาจารย์บางท่าน  จะพรรณนาพระคุณของพระบรมศาสดา  ท่านได้ตั้งมาตรฐานขึ้นมาว่า  ถ้าจะมีบุรุษคนหนึ่ง  มีศีรษะ 1,000  ศีรษะ  ในหนึ่งศีรษะมี  1,000  ปาก  ในหนึ่งปากมี  1,000  ลิ้น  แต่ละลิ้นระดมพรรณนาพระพุทธคุณไปต่างๆ กัน  เป็นเวลากัลป์หนึ่ง  ก็ไม่สามารถพรรณนาพระคุณของพระองค์โดยรายละเอียดให้หมดสิ้นได้  แม้ว่าสมเด็จท่านจะไม่ได้มีอะไรมากถึงอย่างนั้น  หรืออยู่ในระดับเดียวกันนั้น แต่ก็ควรสงเคราะห์ ไว้ในประเภทนั้นตามสัดส่วนที่ลดหลั่นกันลงไป  แม้จะไกลออกไปสักเท่าไร  ทั้งนี้ก็เพราะว่า  ท่านต้องมีอะไรๆ  ที่ยังไม่ปรากฏแก่พวกเราอีกมากนัก  เราดูท่านไม่ค่อยออกท่านไม่ได้แสดงออก  เพราะไม่ประสงค์จะอวดตามแบบนักเลงเก่าแท้  ดังนั้นต้องยังมีส่วนที่ใครไม่ทราบ  หรือยังมีส่วนที่ถ้าไปรู้เข้า  ก็ไม่รู้จะเรียกว่าอย่างไร  หรือพรรณนาบรรยายออกไปได้คำพูดว่าอย่างไร  ใครเป็นคนรู้บ้างว่า  ถ้าสมมติว่าท่านยังอยู่มาถึงเวลานี้  จะมีอะไรเปิดเผยหรือแสดงให้เห็นออกมาอีก?  และจะมีอะไรบ้างในสิ่งเหล่านั้น  ถ้าเปิดเผยออกมา  พวกเราจะถึงกับงงกันหงึกหงันก็ยังได้  ใครจะเป็นคนรู้?  คุณอันละเอียดอ่อนบางอย่างของท่าน เราไม่เข้าใจอย่างทั่วถึง  แล้วก็บังอาจเดาพูดอะไรไปในทางที่ตรงกันข้าม  หรือขัดกันเสีย  หรือผิดรูปจนถึงกับกลบมิดไป  บางอย่างเราอาจจะตีค่าหรือตีความผิดไปมากโดยไม่รู้สึกตัว  จนเป็นการทำบาปอย่างหนึ่งไป  ก็ได้  ทั้งหมดที่กล่าวนี้ไม่ใช่เป็นการชวนให้บิดพริ้วเถลไถลในการเขียนหากแต่ต้องการให้ช่วยกันระวังพิเศษเท่าที่จะระมัดระวังได้  ในการที่จะพรรณนาพระคุณของท่าน  ให้ถูกต้องครบถ้วน  และลึกซึ้งถึงที่สุดจริงๆ เพื่อว่าจะไม่กลายไปเป็นการกระทำชนิดที่ระบายสีพระพุทธรูปที่ผุดผ่องเป็นประภัสสรอยู่แล้วในตัว  ให้เลื่อมรัศมีคลายความศักดิ์สิทธิ์ที่สูงสุดไปดังกล่าวแล้วนั้น  สำหรับข้าพเจ้าเอง  ก็จะขอแสดงความรู้สึกในใจว่า  จำใจทำไปโดยมีความวิตกว่า   "กรรมแล้ว  แก้วตาเอ๋ย "  รู้สึกอยู่ในใจ  อยู่นั่นเองข้าพเจ้าจะได้บรรยายความรู้สึกไปตามที่รู้สึกอยู่จริงๆ ด้วยเจตนาให้เป็นเครื่องบูชาคุณ  ของท่านเจ้าพระคุณองค์นั้น

          1. ความอ่อนไหวสุขุมรอบคอบของสมเด็จ. สิ่งนี้  ท่านมีมากจนถึงกับข้าศึกต้องพ่ายแพ้ภัยตัวไปในที่สุด  ไม่แผ้วพานคณะสงฆ์  มีตัวอย่างเห็นได้เมื่อนรินทรกลึง  ออกหนังสือชนิดที่เรียกได้ว่าเป็นการด่า  หรือฟาดฟันมุ่งจะทำลายคณะสงฆ์ในสมัยหนึ่งซึ่งเป็นสมัยที่สมเด็จท่านตั้งอยู่ในฐานะเป็นมันสมองของสถาบันด้วยองค์หนึ่ง  มีกระสุนหลายลูก  ซึ่งบุคคลนั้นเล็งแล้วลั่นไปยังสมเด็จเป็นพิเศษ  ซึ่งข้าพเจ้าก็ได้อ่านข้อความเหล่านั้นแล้วสงสัยอยู่ว่าท่านจะทนได้อย่างไร     ในที่สุดปรากฏว่า  ท่านได้จัดการกับช้างอาละวาด  หรือชักชวนให้หมู่คณะกระทำการต้อนรับช้างตกมันนี้  อย่างดีที่สุด      ที่สมณะทั้งหลายจะพึงกระทำ  ข้าพเจ้าเข้าใจว่า  ถ้ามันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับองค์ท่านโดยเฉพาะ  ท่านอาจจะไม่เอาใจใส่       นรินทรกลึงเลย  ในทุกประการก็ได้  ถ้านรินทรกลึงได้กลับมาเวลานี้  แกจะพูดว่าอะไร  ในเมื่อแกมุ่งแต่จะกระทำไปด้วยทิฎฐิเดือดอย่างเถรตรงตามตัวหนังสือ  ไม่รู้จักตัวเอง  ไม่รู้จักโลกในส่วนที่สำคัญชั้นลึกลงไป  ว่าคณะสงฆ์สมัยนี้จำเป็นต้องทำงานบางอย่าง  ชนิดที่ครั้งพุทธกาลไม่มีหรือไม่ต้องทำ  แต่สมัยนี้ต้องทำอย่างจำเป็นดังนี้แล้วจะให้คณะสงฆ์สมัยนี้ ทำเหมือนกับสมัยโน้นทุกตังอักษรของเถรตรง  อย่างไรได้  ข้อที่ท่านโปรดนรินทรกลึงไม่ได้นั้น  ไม่ใช่ความบกพร่องของท่านซึ่งได้พยายามทำด้วยความอ่อนไหวสุขุมรอบคอบแล้ว  แต่เป็นความไม่รู้จักตัวเอง  และไม่รู้จักคณะสงฆ์ของผู้อาละวาดนั่นเอง  ในการปกครองประเทศนั่นเอง  ในการปกครองประเทศก็ดีคณะสงฆ์ก็ดี  หมู่คณะย่อยๆลงไปก็ดี  เราด้องการบุคคลที่รู้จักทำศัตรูให้พ่ายแพ้ภัยตัวเอง  ยิ่งกว่าอย่างอื่น  เพราะเป็นการทำให้เกิดสันติมากกว่าอย่างอื่น  ซึ่งในกรณีนี้  เรามีท่านเจ้าพระคุณสมเด็จเป็นอุทาหรณ์  และเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเป็นสิ่งที่กระทำได้

          2.  ความนิ่มนวลอ่อนโยนของสมเด็จ.  เมื่อข้าพเจ้าได้สังเกตเห็นคุณธรรมข้อนี้ของท่านมากขึ้นๆ ก็เกิดความรู้สึกขึ้นมาในใจ   ซึ่งสรุปได้ว่า  ท่านเป็นผู้ที่   "ห้ามล้อไม่ได้ดังครืด"  หรือยิ่งกว่านั้น  ก็คือไม่ทำความกระทบกระเทือนใดๆเลย  แต่กลับมีผลดีมากที่สุด  ยิ่งกว่าพวกที่ห้ามล้อดังครืดคราด  อย่างที่จะเทียบกันไม่ได้เลย  ข้อนี้ เป็นสิ่งที่ทำให้เราเชื่อและถือได้ต่อไปว่าท่านเป็นผู้ที่ "ไม่มีการเหยียบซ้ำคนที่ล้มแล้ว"   หรือแม้แต่การที่จะ  "ข้ามคนที่ล้ม"  เป็นอย่างแน่นอน  เพราะเห็นท่านนิ่มนวลถึงขนาดที่อาจจะกล่าวได้ว่า  ท่านจะ "ไม่ข้ามแม้แต่ไม้ที่ล้ม"  หรือท่อนไม้ที่วางอยู่  ในเมื่อมีทางที่ท่านจะค่อยๆเลี้ยวอ้อมไป  แม้จะลำบากสำหรับคนแก่อย่างท่าน  ท่านเคยทำกับข้าพเจ้า ในลักษณะ  "ห้ามล้อไม่ดังดรืด" นี้ด้วยเหมือนกันทั้งที่ข้าพเจ้าเป็นคนที่ท่านได้ประทานความเป็นกันเองให้มากที่สุดอยู่แล้ว.  ข้าพเจ้ามีความสลดใจทุกคราวไป ที่ข้าพเจ้ายังทำตามท่านในข้อนี้ไม่ได้ คือยังห้ามล้อใครดังดรืดคราดอยู่เสมอ หรือถึงกับดังโผงผางไปก็มี.  ข้าพเจ้าต้องขอกราบขออภัยโทษท่าน ในกรณีทีไม่สามารถเป็นลูกศิษย์ที่ดีในข้อนี้  และแน่ใจเหลือเกินว่าท่านต้องประทานให้อภัย เพราะสังเกตเห็นว่า  ท่านทราบนิสัยบางอย่างของข้าพเจ้าอย่างดีทีเดียว

ความนิ่มนวลของสมเด็จนั่นแหละ เป็นอาวุธของท่าน และเป็นอะไรอื่นอีกหลายอย่าง  โดยเฉพาะที่เป็นอย่างยิ่งคือ   "ความเป็นสมณะชั้นพิเศษ"  ของท่าน  ทำให้พวกเราเกิดความรู้สึกได้โดยไม่ยากกว่าพระบาลีที่ว่า  "…สมณานญจ   ทสฺสน°  เอตมฺ มงคลมุตฺตม° " นี้ เป็นสิ่งที่มีท่านเป็นผู้แสดงให้เห็นว่ามีความประเสริฐที่สุดเพียงไร  เพราะพอเห็นท่าน หรือบุคคลอย่างท่าน ใครๆที่กำลังร้อนมาก็เย็นได้ทันที ขอให้มีบุคคลประเภทนี้  อยู่เป็นมิ่งขวัญของพุทธบริษัท  หรือของโลกทั่วๆไปเถิดโลกก็พากันเยือกเย็น

          3. ความทันต่อสมัยและเหตุการณ์ของสมเด็จ. สมเด็จท่านเป็นทั้งคอนเซอรวะตีฟ และไลเบอราลได้พร้อมกันไป ในตัว อย่างน่าอัศจรรย์  ท่านรักษาขนบธรรมเนียม เคร่งครัดในพระวินัย แม้แต่ระเบียบของหมู่คณะ ท่านเคยกล่าวกับข้าพเจ้าว่า  "เกี่ยวกับนิกาย ฉันมิได้รังเกียจเธอเลย  แต่สิ่งต่างๆเนื่องด้วยผู้อื่นจึงต้องเป็นไปตามระเบียบของหมู่คณะ"  ท่านมุ่งรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย ตามแบบฉบับของบุรพาจารย์อย่างไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นลักษณะของคอนเซอรวะตีฟ  พร้อมกับอีกทางหนึ่ง ท่านก็ทำสิ่งที่ทันสมัยทุกอย่าง อย่างพวกไลเบอราล ท่านแสดงธรรมเป็นภาษาจีน  ทางวิทยุกระจายเสียงในปีแรกที่มีขึ้นในประเทศไทยที่ศาลาแดง  ซึ่งข้าพเจ้าเคยฟังด้วยตนเอง เราอาจจะกล่าวได้ว่า ท่านเป็นผู้เปิดระบบ       "ส่งเสียงตามสาย"  ขึ้นก่อนใครๆ ในกรุงเทพฯก็ได้  แม้จะเป็นเพียงภายในของเขตวัด  ข้อนี้ย่อมหมายถึงความที่พร้อมเสมอในการทดลองหรือปรับปรุง เพื่อความก้างหน้าที่เหมาะสมแก่สมัย.

ความเป็นผู้มีสปริตแห่งอนุรักษ์นิยม  ( ตามที่เขาเรียกกัน  ไม่แน่ว่าจะถูกหรือผิด  ซึ่งหมายถึงคอนเซอรฺวะตีวิสมฺ )  มีอย่างมากในสมเด็จ  เช่นท่านยังอยากจะให้มีบทศึกษาเรื่องปัจจเวกขณ์สี่  คือ  จีวร-บิณฑบาต,  เสนาสนะ-เภสัช รวมอยู่ในตัว หลักสูตรนักธรรมด้วย  ข้อนั้น เป็นสิ่งที่ตรงตามแบบฉบับของโบราณ  ซึ่งตรงต่อหลักการของพุทธศาสนาอย่างยิ่ง  บัดนี้  ดูเหมือนเราละเลยการศึกษาและการปฏิบัติ  ที่สำคัญที่สุดเท่ากับเป็นหญ้าปากคอกที่สุดหมวดนี้เสีย  สถานการณ์จึงเปลี่ยนไปในทางที่น่ากลัว  หรือน่าเศร้ายิ่งขึ้นทุกที  โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทสำหรับศึกษาว่า  ยถาปจฺจย°   ปวตฺตมาน°  ฯลฯ นิสฺสตฺโต     นิชฺชีโว สญฺโญ นั่นเป็นหัวใจของเนื้อแท้ของพุทธศาสนา  ที่คนจะมาสู่ศาสนาด้วยการมาอยู่วัดเพื่อบวชเป็นต้น จะต้อง     ลงมือเรียนในวันแรกย่างเท้าเข้ามาและปฏิบัติให้สูงต่อ ๆ ขึ้นไป  จนกว่าจะเป็นพระอรหันต์  ด้วยหลักธรรมบทนั้น  การที่สมเด็จท่านประสงค์เช่นนั้น  นับว่าเป็น  “อนุรักษ์นิยม” อันสูงสุด.  การที่เราจะละเลยสิ่งที่เคยรักษากันมาอย่างเคร่งครัด เช่นนี้เป็นสิ่งที่ต้องติดดูอย่างมาก:  มันจะทำให้ภาวะสงฆ์ผันแปรไปจนสูญเสียภาวะเดิมแท้  อันเคยมีประโยชน์ยอดยิ่งหรือผุดผ่องอย่างยิ่งไปอยู่เสียในรูปอื่น  หรือสูญหายไปในที่สุดก็ได้.  การแก้ไขเปลี่ยนแปลงจึงเป็นสิ่งที่ต้องกลมกลืนกันไป   กับการรักษาแบบฉบับเดิม  โดยไม่เสียเจตนารมณ์อันแท้จริงขิงเรื่องนั้น.  สมเด็จท่านมีความสุขุมรอบคอบ  จึงทำได้ไม่ยากในการที่จะเชื่อมโยงของเก่าไว้ด้วยวิธีการอันใหม่..

          4.  ความเป็นนักศึกษาค้นคว้าของสมเด็จ. ในความรู้สึกของข้าพเจ้า รู้สึกว่าอาจจะมีอะไรบางประการเกี่ยวกับท่าน  ที่ควรถือว่าเป็นการ  "ปิดทองหลังพระ"  บ้าง  หรือยังมิได้ปิดเลยบ้าง  ในส่วนที่จะทิ้งไว้ก่อนก็ไม่เป็นไร  ข้าพเจ้าได้ฟังคำพูดบางประโยคจากสมเด็จแล้ว  รู้สึกใจระรัวด้วยเหตุต่างๆ  กัน  เช่นเมื่อกำลังวิจารณ์อรรถธรรมที่ลึกซึ้งบางอย่างจากพระบาลีบางเรื่อง  ท่านกลัวว่า "เรื่องนี้"  ฉันค้นพบแล้วตั้งแต่ค้นเพื่อถวายเสด็จ"  หรือบางทีก็ว่า  "เรื่องนี้  ฉันมีความเห็นแตกต่างจากเสด็จ"  หรือบางเรื่องท่านกล่าว  "ฉันเห็นว่า  ยังไม่ควรทูลเสนอเสด็จ"  ดังนี้เป็นต้น     ในที่นี้หมายถึงสมเด็จพระมหาสมณเจ้า  กรมพระยาวชิรญาณวโรรส.  และเป็นเรื่องโดยเฉพาะในสมัยที่มีการริเริ่มทำตำราเรียนนักธรรม  หรือการวินิจฉัยวิจารณธรรมในชั้นลึก  แห่งยุคใหม่  ซึ่งมุ่งทำกันจากบาลีโดยตรงเป็นส่วนสำคัญ  จากข้อสังเกตในหลายด้านด้วยกัน  ทำให้ทราบได้ว่า  ท่านมีหน้าที่  "ช่วยเป็นมือที่ขยันขันแข็ง" และเป็นทั้ง "สมองน้อยนับด้วยร้อยแขนงคอยถวายคำปรึกษา"  ของเสด็จของท่านและเป็นอะไรๆ อีก มากกว่าที่พวกเราในชั้นหลังๆ จะสังเกตเห็นหรือทราบได้ทั้งหมด.

ข้าพเจ้าเชื่อว่า  "ความเป็นนักศึกษาค้นคว้าสังเกตสอบสวน อันแน่นแฟ้นแต่ละเอียดอ่อนของท่านนั้นคงจะเป็นที่สบพระทัย ของสมเด็จกรมพระยาองค์นั้น เป็นอย่างยิ่ง  พวกเราชั้นนี้ไม่มีบุญ  ไม่มีโอกาสได้เห็นเหตุการณ์นั้นๆ ด้วยตาเอง  หากได้เห็น  ก็จะเป็นบุญตาหรือโชคดีเหลือประมาณ  เพราะได้เป็นตังอย่างที่ดีเลิศ  ในวิธีการศึกษารวบรวมค้นคว้าสำหรับพวกเราเวลานี้  โดยไม่ต้องสงสัยเลย  เท่าที่เราได้ฟังมาจากท่านบางอย่างนั้น  คงจะเป็นส่วนน้อยเหลือประมาณ  ของงานอันมหาศาลที่ท่านเหล่านั้นได้กระทำกัน.

          5. ความอิสระในการใช้ความสังเกตวินิจฉัยของสมเด็จ.  วันหนึ่ง ท่านได้แนะให้ข้าพเจ้าสังเกตว่า "ข้อความในสูตร  อย่างมหาสมยสูตร  มหาสติปัฏฐานสูตร  เป็นต้น  ในที่ฆนิกายนั้นเป็นของเพิ่มเข้าทีหลัง หรือขยายของเดิมให้เขื่อง  ออกไป  ใครจะเชื่อบ้างว่ารายละเอียดของข้อความในมหาสมยสูตรนั้นเป็นของพุทธ  ฉันไม่เชื่อ  ข้อความในมหาสติปัฏฐานสูตร  ยาวถึงขนาดนั้น เธอเชื่อหรือว่าพระองค์จะตรัสไหว ในคราวเดียวจบสูตร  ตอนปิยรูปสาตรูปมันเหมือนกับการแจกสูตรคูณ  ฯลฯ "  ข้าพเจ้ารับเอาข้อแนะนำนั้นมาใคร่ครวญดูแล้วเกิดความคิดและความเชื่อชนิดอิสระอย่างท่าน  แต่อาจจะเลยท่านไปอีกก็ได้  คือเห็นว่าบรรดาสูตรทั้งหลายไม่ว่าของทีฆนิกายหรือมัชฌิมนิกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทีฆนิกาย  ที่มีชื่อสูตรนำด้วยคำว่า "มหา…"  แล้วทุกสูตรได้แสดงลักษณะแห่งการเพิ่มเติมใหม่  หรือปรับปรุงใหม่  ขยายความออกไปใหม่  อย่างที่จะสังเกตเห็นได้ถนัดเสมอ  ถ้าจะเอาข้อความแห่งสติปัฏฐานสูตร  ในสมัยนิกาย  มหาวารวัด  มาเทียบกันดูกับ  มหาสติปัฏฐานสูตร  ทีฆนิกาย ก็จะเข้าใจเรื่องนี้ได้  และยังจะเห็นได้สืบไปถึงข้อที่ว่าคำอธิบายของคำว่า  "สมฺปชาโน" เพียงคำเดียวในสติปัฏฐานสูตร ถูกนำไปเป็นคำอธิบายเรื่อง "กาเยกายานุปสฺสี"  เต็มหนึ่งบรรพในมหาสติปัฏฐานสูตรไปเสียเลย  เป็นต้น. สำหรับสูตรพิเศษเช่นมหาปรินิพพานสูตรนั้น ก็บอกลักษณะพิเศษของตัวเองอย่างเห็นได้ชัดเป็นพิเศษอยู่แล้วทั้งอย่างเถรวาทและมหายาน ว่าได้ไปเอาคัมภีร์พุทธประวัติ ที่ได้ร้อยกรองไว้แล้วที่ใดที่หนึ่ง มาทำเป็นสูตรๆ นี้จึงมีความยาวถึงขนาดที่เอามาเป็นพี่ของมหาสติปัฏฐานสูตร ในทีฆนิกาย ด้วยกันได้ดี

          ข้าพเจ้าได้สังเกตเห็นว่า สมเด็จท่านมิได้รังเกียจมหาสติปัฏฐานสูตรเลย, แต่การจะให้เชื่อว่าพระพุทธองค์ได้ตรัสสูตรนี้ในคราวเดียว ในลักษณะอย่างนี้ ด้วยคำพูดมีปริมาณเท่านี้ ในลักษณะแจกสูตรคูณ อย่างเช่นตอนปิยรูปสาตรูป ซึ่งดูจะเป็นฝีมือของพระสังคีติกาจารย์หลังจากพุทธปรินิพพานนั้นท่านไม่ได้ ท่านได้แนะให้ข้าพเจ้ารู้จักสังเกตอย่างอิสระเช่นนี้ อีกหลายเรื่องด้วยกัน, ข้อนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่ายังมีอะไรบ้างที่ยังซ่อนอยู่ในส่วนลึกแห่งจิตใจ โดยที่ท่านไม่ได้เปิดเผยแก่คนส่วนมากหรือทั่วไปนั่นเอง, เพราะคนเหล่านั้นจะไม่ยอมเชื่อท่าน โดยเหตุที่เขาไม่กล้า หรือไม่อาจจะมีจะรักความเป็นอิสระอย่างท่าน, ข้อนี้เป็นเหตุให้ข้าพเจ้ากล้ายืนยันว่า ยังมีส่วนที่เรายังไม่ทราบของท่านเหลืออยู่อีกเป็นแน่, ซึ่งถ้าเปิดเผยออกมา ก็คงจะงงอย่างหงึกหงักกันอีก นั่นเอง.

          เรื่องอาจจะเป็นไปได้ถึงกับว่า ท่านไม่ประสงค์จะให้บางคน กล้าคิดกล้าวินิจฉัยอย่างอิสระทำนองนั้น เพราะมันไม่เหมาะสำหรับเขา. หรือมันอาจจะเป็นอันตรายแก่เขา แต่สำหรับข้าพเจ้านั้น สังเกตดูท่านไม่คิดเช่นนั้น  เพราะอาจจะเห็นว่า  ข้าพเจ้าเป็นคนรั้นในทางนี้ จนเกินขนาดไปแล้วก็ได้,  จึงได้แนะนำให้รู้จักความเป็นอิสระ ชนิดที่พอมีเหตุผล อย่าให้กลายเป็นบาปไปเสีย. ลักษณะเช่นนี้ย่อมแสดงอยู่ในตัวแล้วว่า  มันเป็นความลำบากยากใจแก้ข้าพเจ้าเพียงไร ในการที่จะบรรยายพรรณนาพระคุณของท่าน ให้ถูกต้องไม่บกพร่องจนอาจจะเกิดบาปแก่ผู้เขียนได้, ซึ่งทำให้ลังเลไม่กล้าจะเขียน     ลงไปง่ายๆ ดังที่ได้ปรารภไว้ข้างต้นแล้ว, ข้อนี้ถ้าหากท่านอยากจะสงวนไว้ให้เป็นความลับ แต่ข้าพเจ้ามาเปิดเผยของท่าน ย่อมไม่เป็นการสมควร และขอรับผิดแต่ผู้เดียว ถ้ามีความเสียหายอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น.

          6.  การเคารพความคิดเห็นของตนเอง.  ในสายตาของข้าพเจ้าที่สังเกตเห็น หลายต่อหลายเรื่องที่รู้สึกว่าท่านเป็นผู้เคารพความคิดเห็นของท่านอย่าง "แข็งโก๊ก"  ซึ่งเทียบส่วนทำนองตรงกันข้ามแล้วก็นับว่ามีมากเท่ากับความนิ่มนวลอ่อนโยนภายนอกของท่าน. แต่แม้ท่านจะไม่เห็นด้วย หรือถึงกับไม่พอใจ ท่านก็จะเพียงแต่ส่ายเศียรเล็กน้อยเท่านั้นและอาจจะยิ้มซ่อนไว้ด้วยก็ได้. สำหรับอย่างแรกคือแข็งโก๊กจริงนั้น ข้าพเจ้าสมัครตะครุบเอาความเป็นลูกศิษย์ของท่าน อย่างยิ่ง, และอาจจะมีแต่ทำเกินครูไปเสียอีก, สำหรับอย่างหลังนั้น  คงจะเหลือวิสัย หรือเปลี่ยนนิสัยของข้าพเจ้าไม่ได้ไปจนตาย ยิ่งแก่ตัว ทำไมแข็งโก๊กไร้ความนิ่มนวลยิ่งขึ้นไปทุกที ข้อนี้ทำให้นึกสงสารตัวเอง แล้วก็ยิ่งรำพึงถึงสมเด็จยิ่งขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน.

          ความ  " แข็งโก๊ก" ของท่านนี้ ดูจะเป็นเหตุให้มีผู้เข้าใจท่านผิดๆ บางประการ, เช่นเข้าใจไปว่าท่านเป็นคนตระหนี่ เนื่องจากการที่ท่านไม่ยอมแจกปากกาหมึกซึม  ซึ่งท่านไม่ต้องใช้ แต่เขาจะเอาไปทดลองประกวดกันในการแทงเจาะกระป๋องนมเพื่ออวดกันว่าของใครแข็งแรงกว่าใคร ซึ่งจะยอมรับว่าเป็นปากกาที่ดีกว่าของคนอื่นทั้งหมด. ท่านคงจะมีความเห็นอย่างเฉียบขาด หรือแข็งโก๊กว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำโดยเด็ดขาด ไม่ว่าในสถานการณ์เช่นไรหรือบุคคลชนิดใด. ทำไมเราจึงไม่เอาอย่างท่านในลักษณะอย่างนี้กันให้มากเพื่อให้หมู่คณะตั้งอยู่อย่างมั่นคง อย่างแข็งโก๊กด้วยเล่า?

          7.  ความระมัดระวังในการสอนเรื่องอนัตตา- สุญญตา.   สังเกตดูท่านจะมีความเห็นว่า  คนสมัยนี้ไม่อาจจะฟังเข้าใจ  จะเหนื่อยเปล่า ,  หรืออาจจะถึงกับว่าเขาฟังผิดเข้าใจผิด  และเอาไปประพฤติผิด ๆ จนเป็นอันตรายในภายหลัง ,  จึงลงความเห็นว่าไม่ควรสอนเรื่องอนัตตาโดยเปิดเผย  เป็นสาธารณะทั่วไป.  แต่ข้าพเจ้าเป็นเด็กดื้อ;  ท่านจะปรารภเรื่องนี้   สักกี่ครั้งกี่คราว  ข้าพเจ้าก็หยุดไม่ได้จนกระทั่งถูกนักเลงโตด่าบ้าง  ล้อเลียนบ้าง  สบประมาทบ้าง  ดังที่ท่านทั้งหลายก็ทราบเป็นอย่างดีแล้ว,  เลยทำให้ระลึกต่อไปว่าท่านคงทราบดีว่าเรื่องนี้มันต้องเป็นอย่างนี้เอง,  มันช่วยไม่ได้,  แต่ท่านประหยัดไว้ไม่พูด  ไม่ขู่ให้ข้าพเจ้านึกกลัว    อีกอย่างหนึ่งท่านอาจจะไม่เห็นเป็นเรื่องสำคัญในการถูกด่า  โดยที่มันไมมีความหมายอะไรนัก  ในการถูกด่า,  เพราะว่าคนคนเดียวกัน  ทำอยู่อย่างเดียว  ก็มีทั้งคนชมและคนด่า,  ท่านจึงไม่สนใจในเรื่องที่จะถูกด่า  เลยก็ได้.  ดังนั้นมันคงจะมีเหตุผลไปในทำนองว่า  ท่านเป็นผู้ที่สุขุมรอบคอบ  นึกถึงผู้อื่นด้วยความระมัดระวังอย่างสุขุมรอบคอบ  เหมือนท่านเอง.  แต่ข้าพเจ้ามีกรรมทำไม่ได้  และต้องกราบขมาโทษท่านตลอดกาลเกี่ยวกับเรื่องนี้.  ท่านเป็นคนละเมียดละไมเกินไปกว่าที่ข้าพเจ้าจะเอาอย่างท่านไหว.

          8.  ความมีสมรสารูปของท่านเหมือนพระบวชใหม่วันนี้  ในสายตาของข้าพเจ้า  หรือตามความรู้สึกในใจของข้าพเจ้าก็ตาม  รู้สึกว่าท่านเคร่งครัดระมัดระวังละมุนละไม  เหมือนบวชพระใหม่วันนี้ที่กำลังระมัดระวังสังวรสำรวมอย่างเต็มที่.  ข้าพเจ้าเชื่อว่า  ท่านต้องเป็นเช่นนั้นมาแล้ว  ตั้งแต่วันแรกบวชจนกระทั่งวันที่ข้าพเจ้าได้เห็น  และกระทั่งวันสุดท้าย  แม้ข้าพเจ้าจะไม่ได้เห็น,  เป็นแน่นอน.  ข้าพเจ้าออกปากเช่นนี้กับคนหลายคน  โดยที่ไม่คิดว่าจะรั่วรู้ไปถึงท่าน.  ในที่สุด  ท่านก็ทราบเรื่องนี้  และบ่นว่า  “ ให้ฉันมากเกินไป”  จนข้าพเจ้าก็ทราบอีกเหมือนกันและเป็นการทราบจากคนที่เชื่อถือได้เสียอีกด้วย.  ข้าพเจ้าต้องตกเป็นคนดื้ออีกตามเคย  คือไม่เห็นว่ามัน  “ มากเกินไป” ,  เพราะความรู้สึกเช่นนั้น  มันยังเด่นอยู่ในใจของข้าพเจ้าจนกระทั่งบัดนี้.  มันเป็นสิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าไม่อาจลืมลงไปได้   เพราะข้าพเจ้าต้องรู้สึกติเตียนตนเองอยู่มากในเรื่องที่อยู่อย่างไม่เคร่งครัด  หรือไม่ค่อยระมัดระวังอย่างสุขุมรอบคอบ:  ติเตียนตัวเองทีไร  ก็คิดถึงสมเด็จทุกที  จนเป็นอนุสสติอย่างหนึ่งไปทีเดียว.  ดังนั้น  สำหรับข้าพเจ้าแล้ว  รู้สึกว่า  “ไม่ได้ให้ท่านมากเกินไป,  และดูยังไม่ค่อยจะสมใจไปเสียอีก”,   ข้าพเจ้าอยู่ในฐานะที่ต่ำเตี้ย  แล้วจะไป  “ให้”  อะไรท่านได้,  มันเป็นความรู้สึกในใจ  จนล้นออกมาเองทางปาก  ในบางคราวเท่านั้น.  ท่านเสียอีกที่ได้  “ให้”  อะไรแก่ข้าพเจ้าจริง ๆ มากเกินไป  โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ให้สิ่งที่ทำให้มีหิริโอตัปปะเพิ่มขึ้น  จนถึงกับทำให้ข้าพเจ้าต้องสะดุ้งอยู่บ่อย ๆ เมื่อนึกถึงภาพที่ยังติดตามเหล่านั้นขึ้นมาทีไร.

          อีกอย่างหนึ่ง  ซึ่งเป็นความสำคัญอย่างยิ่งเหนือสิ่งใดนั้น  คือข้อที่ทำให้ข้าพเจ้า  และคนอีกเป็นจำนวนมากได้เกิดความแน่ใจถึงที่สุดแล้วว่าการที่ภิกษุองค์หนึ่งจักมีความเคร่งครัดอย่างเสมอต้นเสมอปลายตั้งแต่ต้นจนวาระสุดท้ายนั้น  เป็นสิ่งทำได้อย่างแน่นอน  และอย่างมีประจักษ์พยาน,  ดังนั้น  ขออย่าให้ผู้ใดเกิดความท้อถอย  เพราะความเข้าใจผิดในเรื่องนี้.  เราทุกคน  อย่าได้เคร่งให้ลดลงกว่าที่มีอยู่,  ขอแต่ให้เคร่งเพิ่มขึ้นอีกตามสมควรจนแก่เฒ่าเข้าโลงไปทีเดียว,  เพราะยิ่งแก่เข้า  ก็มีภาระรบกวนน้อยเข้าทุกที  โอกาสที่จะเคร่งเพิ่มขึ้นก็คงจะมีเป็นแน่  แต่การที่จะให้เคร่งครัดละมุนละไมเสมอต้นเสมอปลายอย่างกะท่านนั้น  สำหรับข้าพเจ้าเห็นจะต้องยอมแพ้.  การที่ท่านกล่าวว่า  “ ให้ฉันมากเกินไป”  เป็นเพราะนิสัยแห่งการถ่อมตัวของท่านซึ่งมีมากอย่างยิ่งนั่นเอง.  เราไม่ต้องถือตามที่ท่านกล่าวเช่นนั้นเลยทีเดียวก็ได้.  ข้าพเจ้าขอยืนยันในข้อนี้  ว่าเป็นโชคดีอย่างสูงสุดของพวกเรา   ที่เกิดมาได้เห็นพระภิกษุซึ่งมีสมณสารูปเช่นนี้ที่ในอนาคตแห่งสมัยวัตถุนิยม  จะได้เห็นอีกหรือไม่  ดูจะหวังยากเต็มที่,  เพราะมนุษย์กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างกะวิ่ง  เหมือนครกกลิ้งลงจากภูเขา

          9.  สมเด็จ  กับสวนโมกพลาราม.  สมเด็จในขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งสูงสุดแห่งคณะสงฆ์,  ซึ่งถ้าข้าพเจ้าจำไม่ผิด  ก็กำลังทำหน้าที่บัญชาการสงฆ์แทนองค์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า,   ได้กรุณาไปเยี่ยมสถานที่   ที่เรียกว่าสวนโมกพลาราม  อันเป็นเพียงสถานที่ซึ่งจัดขึ้น   เพื่อการค้นคว้าและส่งเสริมกิจการที่เรียกว่าวิปัสสนาธุระอันเพิ่งจัดขึ้นมาได้สัก  7-8  ปี  ในป่าวัดร้างแห่งหนึ่ง  ณ  ตำบลพุมเรียง  อำเภอไชยา.  ทั้งนี้  เป็นไปในท่ามกลางความงงงันของพวกเรา  โดยไม่มีใครคาดฝัน  ว่าจะได้รับความเมตตาปรานีหรือเห็นใจจากบุคคลสูงสุดในวงการสงฆ์เห็นปานนี้.  ท่านใช้เกยรติอันสูงสุดของท่านเป็นเดิมพัน  เสี่ยงไปเยี่ยมพวกเราซึ่งในขณะนั้นกำลังถูกคนส่วนใหญ่หาว่าแหวกแนว  หรืออุตริวิตถาร,  หรือถึงกับว่าหาว่าสถานที่นี้เป็นที่เก็บพวกพระซึ่งเป็นบ้าก็ยังมี

          สมเด็จท่านไปเยี่ยมสวนโมกข์  ด้วยความคิดอย่างไร  โดยแท้จริงนั้น  ข้าพเจ้าขอยกไว้เหนือการวิจารณ์เพราะรู้กันแต่เพียงว่า  ท่านไปด้วยอำนาจของความเมตตากรุณา  มุ่งจะให้กำลังใจแก่ผู้ที่กำลังทำงานอย่างหนึ่ง   ซึ่งยากเย็นเหมือนการกลิ้งครกขึ้นภูเขา  และมีคนมองในแง่ร้ายอยู่รอบ ๆ ด้าน,  เนื่องจากมีอะไร ๆ ที่ใคร ๆ เห็นว่าแหวกแนวไปเสียทั้งนั้น  นั่นเอง  ผู้ที่เคยอ่านหนังสือพิมพ์พุทธศาสนารายตรีมาสของคณะธรรมทาน  มาแต่ตอนต้น ๆ ย่อมทราบดี.  การที่ท่านมองพวกเราออกตรงตามที่เป็นจริงนั้น  เราขอถือเอาว่าเป็นสติปัญญาชนิดที่พิเศษหรืออัศจรรย์ราวกะปาฏิหาริย์อย่างหนึ่ง,  และได้ถือเอาเป็นปัจจัยอันสำคัญ  ที่ทำให้เราทำอะไร ๆ ด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษเช่นเดียวกัน  ในการดำเนินกิจการของสวนโมกข์ในเวลาต่อมา,  เพื่ออย่าให้ความเมตตาของท่านเป็นหมัน,  หรืออย่าให้ความหวังดีอันสูงสุด  ที่ท่านใช้เกยรติของท่านเป็นเดิมพัน  ให้แก่สวนโมกข์กลายเป็นสิ่งที่ไร้ความหมายไป.

          9.1  สมเด็จลงจากรถไฟชนิดที่ไม่มีการจัดอะไรพิเศษถวายท่าน  ข้อนี้เป็นเพราะอะไร  ข้าพเจ้าทราบไม่ได้  ท่านแวะเยี่ยมสำนักงานคณะธรรมทาน  ริมทางรถไฟหน่อยหนึ่งแล้ว  ขอเดินไปสวนโมกข์ด้วยเท้า  ไม่ยอมขึ้นรถที่ทางการจัดถวาย  ซึ่งสมัยนั้นมีแต่รถสามล้อคนถีบ,  เดินเท้าเปล่าตลอดระยะเวลาทางร่วม  6  ก.ม.  จากที่ตั้งสำนักงานคณะธรรมทานถึงสวนโมกข์.  ท่านบอกกับข้าพเจ้าโดยไม่ประสงค์ให้ใครได้ยิน  ว่าท่านเข้าใจที่จะถือเอาความประสงค์ของพระวินัย  ว่าไม่ยอมให้ภิกษุที่ไม่เจ็บไข้  นั่งรถที่ลากไปด้วยสิ่งมีชีวิต  ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นคนหรือสัตว์.  ทั้งที่ท่านมีเท้าพิการข้างหนึ่ง  เดินไม่ถนัด   ท่านก็ยังไม่ถือว่าควรได้รับการยกเว้น  ในฐานะเป็นคนเจ็บไข้.  นี่แหละท่านทั้งหลาย  ลองพิจารณาน้ำใจของามเด็จดูด้วยตนเองเถิด.  ท่านสังเกตที่ข้าพเจ้าเหลือบดูขาของท่านด้วยความฉงน  ว่าควรจะเดินเท้าตลอดทางไกลเท่านี้โดยความปลอดภัยหรือไม่ ?  ท่านก็กลับเล่าให้ฟังเสียเลย  ว่ามันได้เผอิญเสียไปตั้งแต่ยังเป็นสามเณร  อย่างไรโดยละเอียด  ทำนองจะยืนยันพร้อมกันไปในตัวว่าปลอดภัยมาตลอดเวลานานถึงเพียงนี้แล้ว.  ท่านแขวนเครื่องมือชนิดหนึ่งสำหรับการนับย่างก้าวไว้ที่รัดประคด,  มีรูปร่างเหมือนนาฬิกาพก  ซึ่งเข็มจะเดินไปขีดหนึ่ง  เมื่อตัวเอียงขณะที่ก้าวขาไปก้าวหนึ่งซึ่งมันจะทดตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็นวงต่อ ๆ กันไป  จนทราบได้ว่ากี่พันครั้ง;  ดังนั้นพอไปถีงสวนโมกข์  ท่านก็บอกระยะทางที่ได้เดินมาแล้วเท่าไรกิโลเมตร  ได้ตรงตามความจริง,  ด้วยการอ่านตัวเลขหลาย ๆ วงที่มีอยู่ที่หน้าปัด.

          9.2  ตลอดทางที่กำลังเดินไป.  มันเหมือนกับการเปิด  ร.ร. พิเศษขึ้นอย่างไม่คาดฝัน :  ท่านเรียกให้เดินติดกันเพื่อพูดกันสะดวก.  ท่านปรารภเรื่องต่าง ๆ ตลอดทาง  จนจำไม่ไหวว่ากี่เรื่อง,  รวมเรื่องอรรถอันเร้นลับของวินัยบางข้อ,  กระทั่งแม้ที่สุดเรื่องที่ข้าพเจ้าถือย่ามไม่เป็น  โดยทำให้เนื้อบางส่วนของข้อมือถูกับผ้าย่ามด้านใน,  คือไม่ถือให้ผ้าย่ามทั้งหมดมารวมอยู่บนผ้าจีวรที่พันแขน  เพื่อว่าเมื่อเหงื่อออกแล้ว  จะได้เปื้อนแต่จีวร  ไม่เปื้อนถึงย่ามด้านในซึ่งซักยาก.     ข้อนี้  ต่อมาในระยะหลัง ๆ   ข้าพเจ้าก็พบความจริงที่สรุปได้ว่า  ได้พบหรือนั่งใกล้ท่านที่ไหน  เป็นต้องมีการเปิด  ร.ร.พิเศษขึ้นที่นั่นเสมอไป.

          ท่านทั้งหลาย  ลองคิดดูเถิดว่า  สมเด็จท่านเป็นบุคคลชนิดไร?  ท่านไม่ยอมให้เวลาเสียไปแม้แต่นาทีเดียว  ในการทำประโยชน์  ท่านเข้มแข็งจนคนหนุ่มอย่างข้าพเจ้า  ( สมัยนั้น )  งงในเรี่ยวแรงและการเสียสละของท่าน.  ท่านได้ทำให้ข้าพเจ้ากลายเป็นลูกศิษย์ของท่านเต็มร้อยเปอร์เซนต์  ในเวลาเพียงชั่วโมงเศษเสียแล้ว  และในขณะที่กำลังเดินอยู่นั่นเอง.  ข้าพเจ้าไม่รู้สึกสดุดใจหรือตะขิดตะขวงใจอะไรในการที่จะกล่าวยืนยันว่า  ข้าพเจ้าก็เป็นลูกศิษย์  ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จกะเขา  คนหนึ่งด้วยเหมือนกัน,  แม้ว่ามีหรือเป็นโดยแง่อื่น ปริยายอื่น ไม้เหมือนกับผู้ที่ลูกศิษย์โดยตรง ในความหมายที่รู้ๆ กันอยู่ทั่วๆ ไป  ขอให้พวกเราทุกคนใช้เวลา มีความเข็มแข็งและเมตตา ตามอย่างสมเด็จมรทำนองเดียวกับท่านเถิด คณะสงฆ์ของพุทธศาสนาของเรา จักรุ่งเรืองยิ่งขึ้นมากทีเดียว สำหรับข้าพเจ้านั้น ไม่ใช่จะพูดประชดท่านในการที่จะพูดแม้ไม่ประชดตัวเองว่าตัวโง่หรือสะเพร่าสักเท่าไร  แม้แต่ถือย่ามก็ไม่เป็นจนท่านต้องแนะให้  จึงได้รู้สึกว่าเป็นหนี้ต่อเจ้าพระคุณสมเด็จจนไม่ทราบว่าจะใช้หนี้นั้นให้หมดได้อย่างไร

          9.3  ถึงสวนโมกข็แล้ว  ท่านได้รับการต้อนรับตามพิธีการ  อย่างการต้อนรับของค่ายพักแรมในป่าไม่ว่าจะเป็นที่สรงน้ำ  หือที่ถ่าย ฯลฯ  ตามที่ทางสวนโมกข์จะทำอย่างไร  ค่ำลง  ท่านจำวัดบนหิ้งติดกับฝาในกระท่อมแบบสวนโมกข์  ที่ทำขึ้นล้วนแต่ขนาดสำหรับคนคนเดียว  พระอุปฐากของท่านซึ่งได้รับการจัดให้พักที่กระท่อมเล็กๆ อีกหลังหนึ่ง  ซึ่งอยู่ติดๆ กัน  ขอมานอนจำวัดใต้หิ้งนั้นในกระท่อมเดียวกัน  ด้วยเหตุผลว่าจะสะดวกในการรับใช้ท่านแต่ท่านว่าอาจจะเป็นเพราะขี้ขลาดก็ได้  ท่านทั้งหลายลองคำนวณดูเองเถิดว่า  สภาพของสวนโมกข์ในสมัยนั้นเป็นเช่นไร  การไปเยี่ยมสวนโมกข์ของท่านอย่างกระทันหัน  เช่นนั้นจะต้องประสบความยากลำบากเท่าไร  แต่ท่านยิ้มละไมอยู่ในใบหน้าตลอดเวลาและโดยเฉพาะเมื่อท่านสังเกตเห็นว่า  ข้าพเจ้าเป็นทุกข์ใจ  ในการต้อนรับท่านตามแบบที่สวนโมกข์มีเช่นนี้

          9.4  การทำให้ผู้อื่นสบายใจเป็นนิสัยของสมเด็จ  ข้าพเจ้าสังเกตเห็นในคราวนี้  และคราวต่อมาว่า  การทำให้สบายใจเท่าที่จะทำได้  เป็นสิ่งที่ท่านถือเป็นสำคัญ  และเป็นสิ่งหนึ่งซึ่งประทับลงไปในจิตใจของข้าพเจ้า  เพราะมีความเห็นด้วย  ในการกระทำเช่นนั้นเหลือประมาณ  ในวันรุ่งขึ้นในสวนโมกข์  มีชาวบ้านจำนวนมากมายพาอาหารมาเลี้ยงพระ  สังเกตดูทุกคนต้องการจะได้โอกาสประเคนท่านด้วยกันทั้งนั้น  ท่านสังเกตเห็นอาการอันนี้และยินดีรับสนองความต้องการ จึงเรียกให้เข้ามาประเคนท่านโดยตรง  ทุกคนดูยิ้มแย้มเบิกบานด้วยกันทั้งนั้น  แต่ท่านต้องรับประเคนร่วมร้อยครั้งทั้งสำหรับและสายปิ่นโต  ข้าพเจ้าขอร้องให้บางคนงดเสีย  เพราะเห็นมากเกินไป  และรู้สึกเมื่อยมือแทนท่าน  แต่ท่านเรียกให้เข้าไปจนได้  เป็นอันว่าท่านยอมเหนื่อย  " เพื่อให้เขาสบายใจ"  ซึ่งท่านได้บอกยืนยันกับข้าพเจ้าในตอนหลังว่า  นั่นเป็นสิ่งที่ควรทำ  ข้าพเจ้าได้รับเอามาถือปฏิบัติ และชักชวนเพื่อนฝูงให้ทำเท่าที่จะทำได้เพียงไร  มาจนกระทั่งบัดนี้  ท่านยังได้อธิบายแก่ชาวบ้านทั้งหลายอีกอย่างหนึ่ง  ว่ารับประเคนแล้ว  ก็เท่ากับฉันเหมือนกันนั่นแหละ  อย่าเอาไปคิดให้มากเรื่องจนน้อยใจ  แล้วสำรับเหล่านั้นก็ส่งผ่านไปยังพระทั้งหลายร่วม  40  รูป  ทั้งสามเณร  ที่ไปร่วมการต้อนรับท่าน  นั่งฉันเรียงแถวกันกลางทราย  ใต้ต้นไม้  เลยมีบางคนเรียกต้นยางที่ท่านนั่งพิง  ว่า  "ต้นยางสมเด็จ"   กับสืบมาเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ท่าน

          ข้าพเจ้าคิดว่า  ถ้าพวกเราในตอนหลังยังถือหลัก  "เพื่อให้เขาสบายใจ "  และ   "รับประเคนแล้ว  ก็เท่ากับฉันแล้ว "  กันไว้สืบไปแล้ว  ก็จะยังเป็นผลดีแก่การดำรงอยู่ของพระศาสนา  สืบไปอีกนาน ส่วนมากมักจะเห็นว่า  พอใครได้รับประเคนแล้วก็ลงมือฉันทั้งที่หางแถวยังไม่ได้รับประเคนเลยข้อนี้เองทำให้เกิดนิสัยอันใหม่ขึ้นมา  ผิดจากที่อุปัชฌาย์อาจารย์เคยปฏิบัติกันอย่างไกลลิบ  กล่าวคือนิสัยไม่อดทนขี้หงุดหงิด ไม่บังคับความหิว  เห็นแต่ความสะดวก  และที่สำคัญที่สุดก็คือ  ไม่ค่อยมองลึกลงไปในหัวใจของทายกทายิกานั่นเอง  ในที่สุดก็เป็นคนเยือกเย็นไปไม่ได้

          10.  สมเด็จกับข้าพเจ้าผู้เขียน  เกี่ยวกับข้อนี้รู้สึกว่ายิ่งเขียนไปเท่าไร  อาจจะมีแต่ทำให้ผู้ได้อ่านมีความเข้าใจว่า

ข้าพเจ้าหาประโยชน์ใส่ตัว  โดยอาศัยท่านเป็นเครื่องมือ  และอีกทางหนึ่งมันก็เป็นเรื่องอันควรถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัวเกินไปด้วย  แต่ครั้นจะไม่เขียนเสียเลยก็จะกลายเป็นว่าเก็บพระคุณอันสูงของท่านหมกซ่อนไว้เสียทั้งหมดในส่วนที่เกี่ยวกับข้าพเจ้า  และให้เรื่องนี้ไม่สมบูรณ์ตามที่ควรจะเป็น  ดังนั้นจึงเขียนบ้างเท่าที่เห็นว่าควรเขียน  เพื่อให้เรื่องสมบูรณ์นั่นเอง

          10.1  ความเมตตาของสมเด็จมีเหนือเศียรเหนือเกล้าของข้าพเจ้า  ท่านไต่ถามทุกสิ่งทุกอย่างเรื่องอายุอานาม  ว่าเรียนอะไร  ทำอะไร  เมื่ออายุเท่าไร  เป็นต้น  เป็นลำดับมา  บางเรื่องท่านเอาเวลาและเหตุการณ์ในพระพุทธประวัติ  มาเทียบกับการงานของข้าพเจ้า  ทำให้รู้สึกเป็นการได้รับเกียรติเลิศลอยเกินไปจนไม่รู้ว่าจะหลบหน้าไปทางไหน  แต่ข้าพเจ้าอาจจะรูสึกมากไปเองก็ได้  คือ  ท่านอาจจะทำไปเพียงเพื่อให้เกิดกำลังใจแก่ข้าพเจ้าเท่านั้น  ท่านถามมากที่สุด  เกี่ยวกับเรื่องที่ถ้ามีแล้วจะเป้นความเสียหายแก่กิการสวนโมกข์  คณะธรรมทาน  หรือตังข้าพเจ้าเอง  ท่านกำชับแม้ในการระวัง  อย่ารับผู้ไม่สมประกอบมาร่วมงานอย่างละเอียดลออ  จนทำให้ข้าพเจ้าเกิดสงสัยนึกถึงตัวเองขึ้นมา  ว่าตนเองมีสติสมประกอบแล้วหรือเปล่า ในลิขิตของท่านที่ส่งทางไปรษณีย์  ส่วนมากเขียนด้วยดินสอดำ  ท่านเริ่มบรรทัดแรกว่า   "มหาเงื้อมผู้ถูกอัธยาศัยฉัน "  แล้วจึงเรื่องราวที่ท่านประสงค์จะเขียน  ถ้าข้าพเจ้าสะกดการันต์ผิด  ท่านจะไม่เฉย  แต่จะเขียน   "เอ็ด " ไป มีคราวหนึ่ง  ถูกท่านเอ็ดแกมล้อ  เรื่องราวเขียนคำว่า  "มโนราห์ " ตามความพอใจของข้าพเจ้าเอง  เพราะเห็นว่ามันสวยดี   ท่านล้อไปว่า  ไปทำของเขาเสีย  ต้องเอา  ห  มาไว้ข้างหน้า  รา  คือเป็น  มโนหรา  ตามรูปศัพท์เดิม ข้าพเจ้ากลัวว่า  หะรา  แต่จะไป  อ่านว่า  หรา  เป็นการล้อเสียงคนปักษ์ใต้ไปเสียท่านว่า  การันต์  ห  เสียก็ได้  เป็น  มโนห์รา  ในที่สุดก็เห็นของท่านสวยดีจริงและใช้ตามนั้น  ไม่เคยเปิดปทานุกรมดู  เพราะชอบใจของท่านเสียแล้วมันก็ยิ่งกว่าปทานุกรม  ขออธิษฐานให้พระมหาเถระผู้เฒ่าทั้งหลาย  มีความเมตตากรุณาแก่พระเด็กๆทั้งหลาย  เหมือนท่านเถิด  แม้จะเผอิญเป็นเด็กดื้อในบางคราว  ความรุ่งเรืองในคณะสงฆ์อาจจะทวีขึ้นแปลกๆ ในหลายๆ ทางเป็นแน่นอน

          10.2  ความเป็นกันเองของท่าน  ท่านอยู่ในฐานะสูงสุด  แต่ท่านแสดงออกมาคล้ายกะว่าอยู่ในฐานะที่ไล่เลี่ยกัน  อันเป็นสิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าถึงกับสะดุ้งได้อีกเรื่องหนึ่ง  ในหลายๆ เรื่อง  เมื่อท่านล้อการเผยแพร่เรื่องสำคัญ  คือเรื่องอนัตตาของข้าพเจ้าที่มุทำไปอย่างสุดเหวี่ยง  ท่านเอ่ยว่า   "แหม เอากันถึงขนาดนั้นเทียวนะ "  มันทำให้ข้าพเจ้าตัวลอยเพราะอะไรก็ไม่ทราบ  ถ้าไม่ได้สีหน้าอันยิ้มแย้มของท่านในขณะนั้นแล้วก็ต้องถือว่าเป็นการถูกดุสุดเหวี่ยงเหมือนกัน  บางเรื่องท่านพูดว่า   "เรื่องนี้ฉันอยากให้เธอเอาไปพูดต่อ  เพราะเชื่อว่าเธอจะพูดได้ผลดีกว่าฉัน "  เรื่องเช่นนี้  ท่านทั้งหลายลองคิดดูเถิดว่า ข้าพเจ้าจะรู้สึกตัวเบาปลิวสักเท่าไร?  และรู้สึกว่าท่านประทานความเป็นกันเองแก่ข้าพเจ้า  "มากเกินไปเสียแล้ว "  กระมัง?  แต่อย่างไรก็ตามเถิด  สิ่งเหล่านี้ได้ทำให้ข้าพเจ้า  มีความกล้าหาญและทะนงตัวในการทำงาน  ยิ่งขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าทีเดียว

          ข้าพเจ้าอยากจะกล่าวว่า  ความเสียดายอะไรของข้าพเจ้าทั้งหมด  ดูจะไม่มีอะไรลึกซึ้งเท่ากับความเสียดายในการที่ท่านด่วนล่วงลับไปเสีย  หากท่านยังอยู่ถึงเวลานี้  ข้าพเจ้าจะมีอะไรที่น่าล้อ  ให้ท่าน  "ล้อ "  หรือ   "เอ็ด "  ได้ดีและสนุกว่าเรื่องที่แล้วๆมามากทีเดียว  บางคนคงจะทายออกบ้าง  ว่าข้าพเจ้าหมายถึงเรื่องอะไร  แต่ว่ามันยังมีเรื่อง  หรือบางส่วนของเรื่องที่ข้าพเจ้าเชื่อว่ามีแต่ท่านองค์เดียวเท่านั้นที่ควรจะได้รับฟัง  ซึ่งไม่มีใครทายถูกว่ามันเป็นเรื่องอะไร  ที่ข้าพเจ้าได้ค้นหรือได้สังเกตเห็นใหม่ๆ ต่อมาซึ่งถ้าเปิดเผยขึ้นแล้ว  จะถูกหาว่าเป็นมิจฉาทิษฐิสุดเหวี่ยง  แต่ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จท่านจะไม่รู้สึกอย่างนั้นเป็นแน่นอน  ในที่สุดยังคงมีอยู่แต่ความสงสัยในใจของข้าพเจ้าว่า  ในอดีตก็ดี  ในอนาคตก็ดีได้มี  หรือจะได้มีพระมหาเถระองค์ใด  ที่ให้กำลังใจแก่พระเด็กๆ ในทำนองที่ท่านได้ประทานให้แก่ข้าพเจ้า  อันทำให้ผู้ได้รับสามารถทำงานที่ลึกซึ้งเหนื่อยสมองได้โดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยด้วยอิทธิพลแห่งกำลังใจนั้น

          11.  สรุปลักษณะของสมเด็จที่ข้าพเจ้ารู้สึกท่านมีความน่าเกรงขามอย่างยิ่ง  อยู่ในความอ่อนหวานที่ท่านมีอยู่อย่างมหาศาล  ท่านมีความเย็น  ที่ไม่ทำให้ไขมันจับกันเหนียวเป็นก้อน  แต่กลับละลายไขมันให้หลุดออกไปได้ดี  เป็นน้ำเย็นที่ใช้อย่างน้ำร้อน  ก็ได้  หรือถ้าร้อนก็ยังใช้ได้อย่างน้ำเย็นไม่มีการไหม้พอง  ท่านมีการศึกษาลึกซึ้ง  เท่ากับความสุขุมของสติสัมปชัญญะปฏิภาณของท่าน ท่านมีความเคารพตัวเองอย่างซื่อสัตย์สุจริต  ในการสงวนความคิดเห็นอย่างแข็งโก๊ก  แต่ไม่กระด้างหรือดังครืดคราด  ถ้าเกิดมีใครคัดค้านท่านอย่างไม่น่าจะค้าน  ท่านก็ไม่ได้ยินเสีย  ซ่อนยิ้มไว้  และชักเรื่องไปอื่นเสีย  ถึงใครจะดึงกลับมาอีก มันก็ไม่อาจจะมา  เมื่อท่านพูดเรื่องใหม่ที่มีประโยชน์กว่าเรื่องนั้นมันเลิกไปในตัวมันเอง  โดยที่แท้จริงแล้ว  ท่านควรจะได้มีโอกาสเป็นนักศึกษาค้นคว้า  แต่อย่างเดียวไม่ควรจะต้องมีบาปกรรมอะไร  ที่ทำให้ท่านต้องเจียดตัวของท่านไปเป็นนักปกครองอีกส่วนหนึ่ง  แต่ความเห็นอันนี้ของข้าพเจ้าแม้จะใคร่ครวญดีแล้วเพียงไร    อาจจะผิดก็ได้  เพราะยังมีอะไรอื่นที่ข้าพเจ้าไม่ทราบ  ข้าพเจ้าพูดไปก็โดยที่มีความรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ เท่านั้น  และสิ่งที่น่าประหลาดอัศจรรย์ที่สุดก็คือว่า  ท่านเอาความกล้าในการเสี่ยงที่ไหนมา จนเอาเกียรติอันสูงสุดของท่านเป็นเดิมพัน ออกไปสมาคมกับบุคคล ที่กำลังถูกสังคมมองด้วยความระแวงสงสัยหรือเหยียดหยาม  ตัวอย่างเช่นการไปเยี่ยมสวนโมกข์ของท่าน  ในสมัยที่ใครๆ เขาพากันหาว่าข้าพเจ้าเป็นคนบ้าหรือแหวกแนว  ได้โดยที่ท่านมีความคิดเห็นอย่างไร?  แต่ข้าพเจ้าเชื่อโดยไม่สงสัยว่าข้อนี้  เป็นเพราะนิสัยแห่งการสอดส่องเพื่อให้ความเป็นธรรม  ในกรณีที่ควรจะได้รับความเป็นธรรม  หรือความเห็นอกเห็นใจ  มากกว่าอย่างอื่น  ข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่า  ยังต้องมีบุคคลอื่นใดในสถานที่อื่นซึ่งได้รับคุณธรรมข้อนี้ของท่านอีกมากราย  ซึ่งข้าพเจ้าไม่ทราบ

          ที่สุดนี้  ข้าพเจ้าขอภาวนา  ให้บรรดาผู้นำทั้งหลายจะเป็นผู้นำหมู่คณะหรือนำโลก  ก็ดี  จงได้มีคุณธรรมเหล่านี้  เพื่อให้ทุกคนที่อยู่ในขอบข่ายที่อาจจะช่วยเหลือกันได้  ได้รับความเห็นอกเห็นใจด้วยเมตตาที่ประกอบด้วยธรรม  อย่างเพียบพร้อมเถิด  :   และถ้าเป็นไปได้  ขอให้ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จนั่นแหละได้มาเกิด  เป็นผู้นำในทางวิญญาณในขณะที่โลกกำลังเต็มไปด้วยวิกฤติกาลอันโหดร้ายยิ่งขึ้นทุกทีนี้เทอญฯ

          เท่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้  นับว่าเป็นการเพียงพอแล้ว  สำหรับการรำลึกคุณธรรม  อันเกี่ยวกันกับท่านเจ้าพระคุณสมเด็จ  เพราะว่าเพียงเท่านี้  ก็ปฏิบัติตามท่านไม่ทันแล้ว  สำหรับพวกเรา  ที่เราจะทำกันได้สูงสุดก็คือการนึกบูชาท่านอยู่โดยจิตใจเท่านั้นเอง

 

                                                                                      พุทธทาส  อินหปญโญ

                                                                                      สวนโมกข์   12  มิ.ย. 2516


                    ...................................................................................................

 
 
ตะกร้าพระเครื่อง

ดูตะกร้าพระเครื่อง
แจ้งการชำระเงิน
ตรวจสอบวันจัดส่ง
สถานะการส่งพระเครื่ง

พระเครื่องแนะนำ

25-2-66
พระบูชารูปเหมือนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เจริญ


โชว์ บาท

25-2-66
พระรูปเหมือนใบธิ์ เนื้อนวโลหะ ปี 2512 แบบตอกโค๊ด


30000 บาท

25-2-66
พระนาคปรกใบขนุนเนื้อชินสังฆวานร พระสวยเดิม


9500 บาท

25-2-66
พระนาคปรกใบโพธิ์ 7 เศียร พิมพ์เล็กเนื้อนวโลหะ


AC บาท
บูชาแล้ว

25-2-66
เหรียญกนกข้างพิมพ์ใหญ่บล็อก ม.มีจุด (นิยม)


18500 บาท

25-2-66
พระไตรภาคีพิมพ์รูปเหมือนใหญ่เลี่ยมทองอย่างหนา


BD บาท
บูชาแล้ว

24/2/2566
พระปิดตา พิมพ์ตุ๊กตาใหญ่ เนื้อผงใบลาน ฝังตะกรุด


57000 บาท

24/2/2566
เหรียญเขียวในโลง หายาก เป็นเหรียญที่ใส่ไว้ในโลงท่านฯ


โทรถาม บาท

24/2/2566
พระสมเด็จ 3 ชั้นหลังยันต์นูน (เนื้อน้ำอ้อย)พิมพ์จัมโบ้


8000 บาท

21/02/66
เหรียญหลังเต่ารุ่นแรก บล็อกยันต์เคลื่อน


48000 บาท

6/10/65
เหรียญเขียวในโลง (เหรียญเอเชียนเกมส์) หายาก


โทรถาม บาท

6/10/65
พระผงหลวงพ่อพรหม รุ่นฉลองมณฑป พิมพ์ระฆังใหญ่


โทรถาม บาท

9/8/65
พระกริ่งสายฟ้า ตอกโค๊ต 1 ตัว


โทรถาม บาท

28/06/63
พระบูชารูปเหมือนท่านเจ้าคุณนรฯ รุ่นแรกหน้าตัก 5 นิ้ว


โทรถาม บาท

27/12/61
ออกใบรับรองพระแท้ ตอนนี้ท่านสามารถออกใบรับรองพระแท้ได้แล้วนะครับ ในนามร้านศักดิ์ ตลิ่งชัน


บาท

27/12/61
ออกใบรับรองพระแท้ ตอนนี้ท่านสามารถออกใบรับรองพระแท้ได้แล้วนะครับ ในนามร้านศักดิ์ ตลิ่งชัน


บาท

27/12/61
ออกใบรับรองพระแท้ ตอนนี้ท่านสามารถออกใบรับรองพระแท้ได้แล้วนะครับ ในนามร้านหมีพูห์ ปู่ทิม


บาท

27/12/61
ออกใบรับรองพระแท้ ตอนนี้ท่านสามารถออกใบรับรองพระแท้ได้แล้วนะครับ ในนามร้านโต้ ท่าพระจันทร์


บาท

19/12/61
เหรียญหลังเต่า บล็อกยันต์เคลื่อน สภาพสวยเดิม ๆ จมูกโด่ง ผิวดี สภาพนี้หายากแล้วครับ


G บาท
บูชาแล้ว

3/10/61
พระสมเด็จวัดวิเวกวนารามหลังยันต์นูนปั้มยันต์หมึก


โทรถาม บาท

22/9/60
พระรูปเหมือนปั๊ม พิมพ์เตารีดหลังยันต์ เนื้อตะกั่วชุบทอง สภาพสวยเดิม ๆ


โทรถาม บาท

25/07/2560
เหรียญเม็ดแตง หน้าผาก 3 เส้นปีกกา หัวขีด มาพร้อมเลี่ยมจับขอบฝังเพชร


โทรถาม บาท

26-04-60
ออกใบรับรองพระแท้
ตอนนี้ท่านสามารถออกใบรับรองพระแท้ได้แล้วนะครับ ในนามร้านศักดิ์ ตลิ่งชันในสายพระเครื่องของท่านเจ้าคุณนรฯ


โทรถาม บาท

11-4-60
ขันน้ำมนต์ วัดเทพศิรินทราวาส สร้างปี 2495 สภาพสวยเดิม ๆ สร้างน้อย


โทรถาม บาท

1-2-60
เหรียญกนกข้างพิมพ์ใหญ่ เนื้อเงิน บล๊อกนิยมสวยมาก มาพร้อมตลับทอง


โทรถาม บาท

พระเครื่องแนะนำทั้งหมด