พระเศวต ฯ ของชลบุรี
อุ่ณห์จิตต์ นพรัก
...พอผู้เขียนได้เห็นร่างอันมีสง่าราศี ผิวเนื้อขาวเหลือง เพราะสีผ้าเหลืองจับ ใบหน้ามีเมตตากรุณา กิริยามารยาทอ่อนโยนสงบเสงี่ยม นั่งเด่นเป็นสง่าอยู่ในท่ามกลางหมู่สงฆ์ พลันผู้เขียนก็เกิดความเคารพเลื่อมใสศรัทธาในองค์ท่านขึ้นมาทันที ตั้งใจไว้อย่างแน่วแน่ว่า ถ้าผู้เขียนมีโอกาสได้อุปสมบทเมื่อใด จะขออุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดเทพศิรินทราวาส และขอเลือกพระองค์นี้เป็นพระอุปัชฌาย์ของผู้เขียนด้วย
ผู้เขียนได้รับหนังสือของคุณอธึก สวัสดีมงคลนายกยุวพุทธิกษมาคมชลบุรี ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2515 ขอให้ผู้เขียนซึ่งคุณอธึกเน้นว่าเป็นศิษย์ที่ใกล้ชิดคนหนึ่งของเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ญาณวรเดช ) ช่วยเขียนถึงความรู้สึกหรือประสบการณ์ในลักษณะต่าง ๆ ของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ไปรวมพิมพ์เป็นเล่ม เนื่องในงานบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายเจ้าพระคุณ ฯ ในโอกาสจะมีอายุครบ 100 ปีบริบูรณ์ วันที่ 9 กรกฎาคม 2515 ณ วัดเขาบางทราย พระอารามหลวง ชลบุรี
ผู้เขียนยินดีจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ให้ตามที่คุณอธึกขอร้อง ถ้าจะเปรียบก็ชอบด้วยสุภาษิตที่ว่า ยิงนกด้วยกระสุนนัดเดียวได้นก 2 ตัว กล่าวคือนอกจากผู้เขียนจะเคารพบูชาเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ในฐานะเป็นพระอุปัชฌายะผู้เขียนแล้ว ผู้เขียนยังเคารพบูชาเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ซึ่งชาตะวันเดียวกัน ( วันอังคาร ) เดือนเดียวกัน ( เดือน 8 ) ปีเดียวกัน ( ปีวอก พ.ศ. 2415 ) ร่วมสหชาติกับท่านขุนพิธานสมบัติ บิดาบังเกิดเกล้าของผู้เขียนอีกด้วย โดยเหตุนี้ผู้เขียนจึงเรียก สมเด็จพ่อ จนติดปากทั้งต่อหน้าและลับหลังท่านตราบเท่าจนทุกวันนี้ และขอท่านผู้อ่านโปรดทราบไว้ด้วยว่า แม้แต่การเขียนเรื่องนี้ผู้เขียนก็จะขอเรียกสรรพนามของท่านว่า สมเด็จพ่อ แทนคำ เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทุกแห่งไป
ในการที่ผู้เขียนมีโชคดีได้มีโอกาสประสบพบเห็นสมเด็จพ่อ และในที่สุดได้อุปสมบทเป็นสัทธิวิหารของสมเด็จพ่อนั้น เพราะมีอนุสนธิมาแต่หนหลัง คือ เมื่อผู้เขียนสำเร็จการศึกษาสอบไล่ได้จบหลักสูตรชั้นมัธยม 8 โรงเรียนราชวิทยาลัย ตำบลบางขวาง จังหวัดนนทบุรี (ปัจจุบันนี้เป็นศาลากลางจังหวัดนนทบุรี) พ.ศ. 2463 แล้ว ผู้เขียนได้เข้ารับราชการตำแหน่งประจำกรม กรมบัญชาการกลางมหาดเล็ก กรมมหาดเล็กหลวง เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2464 ทั้งนี้เพราะผู้เขียนได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิม พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาธีรราชเจ้า ขณะดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช มกุฎราชกุมาร คราวเสด็จประพาสเมืองสวรรคโลกที่พลับพลา อำเภอสวรรคโลก เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2450 (ร.ศ.126) พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัส ถามผู้เขียนว่า
"เอ็งจะไปอยู่กับข้าเมื่อใด"
ผู้เขียนได้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะไปรับราชการสนองพระเดชพระคุณเมื่อเรียนหนังสือสำเร็จแล้วพ่ะย่ะค่ะ
เออ มีพระราชดำรัสตอบแล้วเสด็จพระราชดำเนินไปยังศาลาเมืองสวรรคตโลกต่อไป
นี่คือเหตุผลที่ผู้เขียนต้องเข้ารับราชการในพระราชสำนักของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ระหว่างผู้เขียนรับราชการอยู่ในพระราชสำนักมีเพื่อนข้าราชการมหาดเล็กคนหนึ่งเชิญผู้เขียนไปในงานอุปสมบทของเขา ณ พัทธสีมาวัดเทพศิรินทราวาส ผู้เขียนได้ไปร่วมการอุปสมบทที่พระอุโบสถวัดเทพศิรินทราวาสเป็นครั้งแรก และได้รับเชิญเข้าไปในพระอุโบสถนั่งใกล้กับนาคผู้จะอุปสมบท
ถึงเวลาอุปสมบทพระกรรมวาจาจารย์และพระอันดับก็ลงโบสถ์ เข้าไปนั่งหัตถบาสรอพระผู้เป็นอุปัชฌาย์สักครู่พระผู้เป็นอุปัชฌาย์ก็ตามเข้ามาจุดธูปเทียนบูชาพระประธานในพระอุโบสถ แล้วนั่ง ณ ที่อุปัชฌาย์ที่จัดไว้
ขอเรียนว่า พอผู้เขียนได้เห็นร่างอันมีสง่าราศีผิวเนื้อขาวเหลืองเพราะสีผ้าเหลืองจับ ใบหน้ามีเมตตากรุณา กิริยามารยาทอ่อนโยนสงบเสงี่ยมนั่งเด่นเป็นสง่าอยู่ในท่ามกลางหมู่สงฆ์ พลันผู้เขียนก็เกิดความเคารพเลื่อมใสศรัทธาในองค์ท่านขึ้นมาทันที ตั้งใจไว้อย่างแน่วแน่ว่า ถ้าผู้เขียนมีโอกาสได้อุปสมบทเมื่อใด จะขออุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดเทพ - ศิรินทราวาส และขอเลือกพระองค์นี้เป็นพระอุปัชฌาย์ของผู้เขียนด้วย
อีก 4 ปีต่อมาความหวังตั้งใจจะอุปสมบทของผู้เขียนก็พลันมาถึง เมื่อปี 2468 โดยทางราชการได้อนุญาตให้ผู้เขียนลาอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดเทพศิรินทราวาสเป็นเวลา 120 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2468 เป็นต้นมา ส่วนผู้เป็นพระอุปัชฌาย์นั้น บิดาของผู้เขียนได้นำตัวผู้เขียนพร้อมด้วยดอกไม้ธูปเทียนไปฝากตัวเป็นศิษย์ และอาราธนาท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ของผู้เขียนตามที่ผู้เขียนได้เจาะจงไว้ตั้งแต่ได้เห็นองค์ท่านเป็นครั้งแรก
วันที่ 25 มิถุนายน 2468 ผู้เขียนได้นำดอกไม้ธูปเทียนแพรไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งบรมพิมานในพระบรมมหาราชวัง กราบถวายบังคมลาอุปสมบทขณะประทับทรงพระสำราญเกมส์งูบันไดกับพระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวี ซึ่งเวลานั้นกำลังทรงพระครรภ์สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา ฯ โดยจางวางตรี พระยาบริหารราชมานพ ( เนียน สาคริก ) จางวางมหาดเล็กเป็นผู้นำเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ได้มีพระราชดำรัสกับผู้เขียนว่า
จงตั้งใจบวชเรียนและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด แล้วเสด็จขึ้น
เห็นควรบันทึกไว้เป็นอนุสรณ์ว่า ผู้เขียนเรื่องนี้เป็นมหาดเล็กคนสุดท้ายของรัชกาลที่ 6 ที่มีโอกาสได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบถวายบังคมลาอุปสมบท เพราะต่อมาอีก 5 เดือนพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จสวรรคต
ผู้เขียนได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2468 เวลา 17.00 น. สมเด็จพ่อ ( ขณะนั้นมีราชทินนามว่า พระสาสนโสภณ ) เป็นพระอุปัชฌาย์
ตลอดเวลาที่จำพรรษาอยู่ ณ วัดเทพศิรินทราวาส ผู้เขียนได้สดับตรับฟังและประจักษ์แจ้งในคุณธรรมความดีงามและความเป็นอัจฉริยบุคคลของสมเด็จพ่อมากมายหลายประการ ซึ่งได้มีผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านได้เขียนสดุดีไว้อย่างละเอียดลออแล้วในหนังสือ ประวัติและรายงานสรงน้ำเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานสรงน้ำ วันที่ 1 เมษายน 2482 และในหนังสือ พระมงคลวิเสสกถา เจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ญาณวรเถระ วัดเทพศิรินทราวาสเรียบเรียงถวายในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษารวม 25 ศก พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ณ สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 2 มีนาคม 2495 ถ้าผู้เขียนจะนำมาพรรณนาในหนังสือนี้อีกก็จะเป็นการซ้ำกัน ผู้เขียนจะเขียนแต่คุณงามความดี ความเป็นอัจฉริยบุคคลของสมเด็จพ่อแต่เพียงโดยย่อ ดังต่อไปนี้
1. ท่านเป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิตที่ฉลาดปราชญ์เปรื่อง มีภูมิปัญญาปฏิภาณปรีชาสามารถแสดงพระธรรมเทศนา แสดงปาฐกถา แสดงสุนทรพจน์ได้ทันทีทุกเวลาทุกโอกาส โดยไม่ต้องตระเตรียมหรือเรียบเรียงไว้ก่อน
2. ท่านมีบุคลิกลักษณะสมกับที่จะเป็นประธานหรือผู้นำหมู่เหล่าที่ดียิ่ง
3. ท่านปฏิบัติเคร่งครัดในพระวินัย ไม่ประพฤติล่วงพระราชบัญญัติทั้งในที่ลับและที่แจ้ง
4. ท่านเป็นผู้มีศีลาจารวัตรอันงาม
5. ท่านมีวาจาไพเราะอ่อนหวาน ดื่มด่ำประทับใจรื่นหูผู้ที่ได้สดับ
6. ผู้ใดได้เสวนากับท่านแล้ว จะมีความแช่มชื่นเบิกบานสำราญใจไปนานเท่านาน
7. ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์อาจารย์ที่ทรงคุณธรรม ละเอียดรอบคอบถี่ถ้วน ซึ่งศิษย์บางคนตามท่านไม่ทันหรือคิดไม่ถึงก็มี
8. ท่านมีกุศโลบายอย่างประเสริฐในการปกคองและอบรมสั่งสอนศิษยานุศิษย์ยากที่จะหาผู้เสมอเหมือน
ผู้เขียนจะเล่าถึงความละเอียดรอบคอบระมัดระวังเกรงจะเสียหายของสมเด็จพ่อ ซึ่งผู้เขียนได้ยินได้ฟังได้รู้ได้เห็นในวันผู้เขียนเป็นเวรผลัดเปลี่ยนกัน ( ของพระบวชใหม่ ) ไปทำอุปัชฌายวัตรรับใช้สมเด็จพ่อมาสู่กันฟัง เป็นนิทัศน-อุทาหรณ์สัก 2-3 เรื่อง
เรื่องคนเขาจะครหานินทาว่าพระ
ไปเที่ยวดูโคมไฟงานเฉลิม ฯ
เวลา 11.30 น. วันหนึ่ง มีพระภิกษุบวชใหม่องค์หนึ่งได้คลานเข้าไปกราบนมัสการสมเด็จพ่อ ซึ่งกำลังฉันภัตตาหารเพลอยู่ที่กุฏิชั้นล่าง สมเด็จพ่อได้ถามว่า
มีธุระอะไรบ้าง ?
พระบวชใหม่พนมมือแล้วกราบเรียนว่า
ค่ำวันนี้เมื่อทำวัตรเย็นเสร็จแล้ว เกล้ากระผมขอประทานอนุญาตไปพบโยมที่บ้านถนนตะนาว เพราะท่านสั่งมาว่ามีธุระอยากพบ ให้เกล้ากระผมไปพบท่านที่บ้านค่ำวันนี้
เธอจะกลับถึงวัดเมื่อใด สมเด็จพ่อ
เกล้ากระผมจะกลับมาถึงวัดเวลาประมาณ 20.00 น. พระบวชใหม่กราบเรียนตอบ
ไปบ้านโยมคืนนี้จะเหมาะหรือ เพราะคืนนี้เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาในหลวง เขามีการตามประทีปโคมไฟกันทั่วเมือง ใครเห็นเข้าเขาจะหาว่าพระไปเที่ยวดูไฟ ฉะนั้นให้งดการไปบ้านโยมไว้ก่อนหมดงานเฉลิมแล้วจึงไป สมเด็จพ่อไม่อนุญาต
เป็นอันว่าคืนวันนั้นพระบวชใหม่องค์นั้นไม่ได้ไปบ้านโยม
เรื่องขอลาไปฉันเพลที่บ้านโยม
เช้าวันหนึ่งพระบวชใหม่องค์หนึ่งมาหาสมเด็จพ่อที่กุฎี
สมเด็จพ่อถามว่า มาหาทำไม
วันนี้เกล้ากระผมมากราบลาไปฉันเพลที่บ้านโยม พระองค์นั้นกราบเรียนสมเด็จพ่อ
สมเด็จพ่อซักว่า เธอจะไปกับใคร
พระองค์นั้นกราบเรียนว่า เกล้ากระผมขออนุญาตเอาพระมหา ...พี่เลี้ยงไปฉันด้วย
พระมหา...พี่เลี้ยงของเธอเป็นโรคที่พึงรังเกียจไม่ควรเอาไปฉันเพลด้วย ญาติโยมของเธออาจรังเกียจก็ได้ เธอไปฉันเพลองค์เดียวจะเหมาะกว่า สมเด็จพ่อติง
เป็นอันว่าสมเด็จพ่อไม่อนุญาตให้พระองค์นั้นเอาพระพี่เลี้ยงไปด้วย
............................................................................