พระเครื่องทั้งหมด 3760 ชิ้น
ตะกร้าพระเครื่อง : ( 0 )
สารบัญหลัก
พระท่านเจ้าคุณนรฯ (1382) พระเครื่องอื่น ๆ (964) เครื่องรางของขลัง (10) พระบูชา (67)
บทความ
ประวัติสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ประวัติท่านเจ้าคุณนรฯ
ประวัติสมเด็จพระวันรัต
ตำนานพระพุทธรูป
หลัการดูพระเบื้องต้น
เปิดโลกสมเด็จ
เปิดโลกพระกรุ
ทำเนียบสมเด็จพระสังฆราชไทย
ประวัติการสร้างพระเครื่อง
อ่านบทความทั้งหมด
กระดานสนทนา
เว็บบอร์ดพระวัดเทพศิรินทราวาส เว็บบอร์ดพระทั่วไป ซื้อขายแลกเปลี่ยน
เมนูช่วยเหลือ
วิธีการบูชา วิธีการชำระเงิน คำถาม-ตอบ เกี่ยวกับเรา แผนที่ร้านฯ ติดต่อเรา นโยบายคุกกี้
อัตราแลกเปลี่ยน
ตรวจสอบการจัดส่งสินค้า
 
ชำระผ่านธนาคาร ธ.ไทยพาณิชย์ 114-2-16175-0 ธ.กรุงเทพ 905-0-00725-2 ธ.กรุงไทย 086-037-0-04433-9


ประวัติสมเด็จฯ

ประวัติ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

( ญาณวรเถร )

วัดเทพศิรินทราวาส  ราชวรวิหาร
 

          เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ  นามเดิมว่า  เจริญ  ในสกุล  สุขบท  เป็นบุตรอุบาสกทองสุข  อุบาสิกาย่าง  ตั้งบ้านเรือนอยู่สะพานแม่ย่าง   ตำบลตลาดกลาง  อำเภอบางปลาสร้อย  จังหวัดชลบุรี   เกิดในรัชกาลที่  5  วันที่  9  กรกฎาคม  พุทธศาสน-กาล  2415  ตรงกับวันอังคารขึ้น  4  ค่ำ  เดือน  8  อุตรษาฒ  ปีวอก  จุลศักราช  1234  ในปีที่จะเกิดนั้นอุบาสกทองสุข  ฝันว่า  มีผู้นำช้างเผือกมาให้   ถึงเรื่องนี้จะเป็นเพียงความฝัน  แต่โบราณก็ถือกันมาว่าเป็นมงคลนิมิตสำคัญอย่างหนึ่ง 

          เมื่ออายุได้  8  ขวบ  ไปเป็นศิษย์ท่านเจ้าคุณชลโธปมคุณมุนี  ( ปุณฺณโก  พุฒ )  แต่ยังเป็นพระอธิการวัดเขาบางทราย  อำเภอเมือง  จังหวัดชลบุรี 

          ท่านเจ้าคุณชลโธปมคุณมุนีนั้น  เป็นสัทธิวิหาริก  ข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เมื่อบวชครั้งแรกเป็นที่สมุห์ฐานานุกรมของพระศรีวิสุทธิวงศ์  ( พระยาศรีสุนทรโวหารฟัก  ครั้งบวชเป็นพระ )  เรียนรู้ภาษาอังกฤษพอประมาณ  ลาสิกขาเข้ารับราชกาลในรัชกาลที่  4  ได้เป็นขุนสาครวิสัย  ในกรมมหาดเล็ก  ครั้นออกจากราชการตอนปัจฉิมวัยจึงบวชอีกครั้งหนึ่งในรัชกาลที่  5  เป็นอธิการวัดบางทราย    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เสด็จประพาสจังหวัดชลบุรี  ทรงทราบประวัติเดิมของท่านอธิการพุฒทรงพระราชดำริว่า  ท่านอุตส่าห์สั่งสอนศิษย์มากและเป็นข้าหลวงเดิม  จึงทรงตั้งเป็นพระครูชลโธปมคุณมุนี  เจ้าคณะจังหวัดชลบุรี  ต่อมาโปรดให้เลื่อนเป็นพระชลโธปมคุณมุนี  ที่พระราชาคณะ

          เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ  เล่าเรียนอักษรสมัยในสำนักท่านเจ้าคุณชลโธปมคุณมุนี  จนย่างเข้าปีที่  12  ไปบรรพชาที่ศาลาในสวนของย่า  ตำบลนาเกลือ  อำเภอบางละมุง  จังหวัดชลบุรี  ย่านิมนต์ท่านเจ้าคุณชลโธปมคุณมุนีไปให้บรรพชาต่อเนื่องกับการอุปสมบทบุตรคนเล็กของย่า  ครั้นแล้วกลับมาเล่าเรียนที่วัดเขาบางทรายสืบต่ออีก  เมื่ออายุ  14  ปี  อาจเรียนวิชาชั้นสูงเพิ่มขึ้นได้  จึงเข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรม  อยู่ในสำนักท่านพระครูวินัยธรฉายฐานานุกรมของพระวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร  วัดราชบพิธ  ในพระนคร  คืนวันรุ่งขึ้นจะมาฝากอยู่กับท่านพระครูวินัยธรฉาย ๆ  ก็ฝันทำนองเดียวกับอุบาสกทองสุขเคยฝันมานั้น  ในระหว่างที่ศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่ในสำนักท่านพระครูวินัยธรฉายอาจารย์  โรคเหน็บชาเป็นดวงกลมเท่าปลายนิ้วชี้เป็นที่ริมน่องเท้าซ้าย  ซึ่งเป็นมาในขณะอายุราว  9  ขวบ  แต่ไม่ได้รักษาเพราะพิการอะไร  เป็นอย่างคนธรรมดา  ต่อเมื่ออายุราว  15  ปี  ก็ไม่รู้สึกตัวว่าเท้าพิการ    ท่านพระครูวินัยธรฉายอาจารย์เห็นเวลาเดินบอกว่า  เท้าพิการ  จึ่งได้รู้สึกตัว  คือทำให้เส้นส้นหน้าแข้งแฟบเดินปลายเท้าตก 

          ต่อมาไปเล่าเรียนในสำนักท่านพระยาธรรมปรีชา  ( บุญ )  จนอายุครบ  20  กลับออกไปอุปสมบทที่วัดเขาบางทราย  จังหวัดชลบุรี  ในวันศุกร์ที่  11  มิถุนายน  พ.ศ. 2435  มีนิยมนามตามภาษามคธว่า  ญาณวโร ท่านเจ้าคุณชลโธปมคุณมุนีเป็นพระอุปัชฌายะ  ท่านพระครูวินัยธรฉายเป็นพระอุปสัมปทาจารย์  กลับเข้ามาจังหวัดพระนครอยู่วัดกันมาตฺยาราม  เพื่อความสะดวกในการศึกษา  เพราะใกล้ที่อยู่ของท่านพระยาธรรมปรีชา  ( บุญ )  ผู้เป็นอาจารย์สอนพระปริยัติธรรม  เรียนอยู่  4  ปีเศษ  ต่อมาไปเรียนในสำนักท่านเจ้าคุณศาสนโศภณ  ( อหึสโก  อ่อน )  แต่ยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระเทพกวี  อยู่วัดพิชัยญาติการาม  เรียนอยู่  3  เดือนเศษ  ถึงปีมะแม  พ.ศ. 2438  เข้าสอบพระปริยัติธรรมในมหามกุฎราชวิทยาลัย  ได้โดยลำดับจนถึงชั้นเปรียญตรี  เทียบ  4  ประโยค

          ปีวอก  พ.ศ. 2439  มาอยู่วัดเทพศิรินทราวาส  เล่าเรียนพระวินัยปิฎก  ในสำนักสมเด็จพระมหาสมณเจ้า  กรมพระ-ยาวชิรญาณวโรรส  เมื่อยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นเป็นพระอาจารย์  ในปีนั้นเข้าสอบพระปริยัติธรรมในมหามกุฎราชวิทยาลัยได้โดยลำดับ  จนถึงชั้นเปรียญเอก  เทียบ  7  ประโยค  ได้รับรางวัลที่  1  ทุก ๆ ประโยคตั้งแต่ชั้นต้นจนถึงชั้นที่สุด  และได้รับตำแหน่งเป็นครูเอกโรงเรียนภาษาบาลีวัดเทพศิรินทราวาสสืบมา

ถึงปีจอ  พ.ศ. 2441  มีพรรษา  7  อายุเข้า  38  ทรงตั้งเป็นพระราชาคณะที่อมราภิรักขิต  โปรดให้เป็นผู้อำนวยการศึกษา  ในมณฑลปราจีนบุรี  และในปีเดียวกันนั้น  วันที่  22  มกราคม  สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ  ทรงตั้งให้เป็นผู้กำกับวัดสัมพันธวงศ์อีกตำแหน่งหนึ่ง  ถึงวันที่  25  ในเดือนนั้นเอง  ทรงพระกรุณาโปรดตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส

เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ  เป็นผู้เอาใจใส่คิดการรอบคอบ  พยายามประกอบกิจการนั้น ๆ ด้วยวิริยภาพอันแรงกล้า       ที่โปรดให้เป็นผู้อำนวยการศึกษามณฑล  ก็ทำให้บังเกิดผลเป็นที่ต้องพระราชประสงค์เป็นอันมาก จะเห็นได้จากความในพระราชหัตถเลขาฉบับหนึ่ง ซึ่งทรงยกย่องชมเชยด้วยความเชื่อมั่นในพระราชหฤทัย  ดั่งปรากฏอยู่ในตำนานวัดเทพศิรินทร์  ตอนกล่าวถึงยุคที่  5  มีดังนี้

ที่ 24 /642                                                                                                                                      พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

วันที่ 11 กันยายนรัตนโกสินทรศก  118

กราบทูล  กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส

          หม่อนฉันได้รับหนังสือฉบับหมายเลขที่  108  ลงวันที่  9  เดือนนี้  ส่งรายงานพระอมราภิรักขิตตรวจจัดการศึกษามณฑลปราจีนบุรีนั้นได้ตรวจดูตลอดแล้วเห็นว่า  พระอมราภิรักขิตมีความสังเกตและความจดจำละเอียดนัก  ทั้งได้เอาใจใส่ตริตรองในการที่จะทำมาก  ควรจะสรรเสริญ  และดูเป็นผู้เข้าใจปรุโปร่งในเขตแขวงเหล่านั้นมาก  เพราะเป็นชาติภูมิ  สมควรแก่ที่จะจัดการศึกษา  และการในแถบนั้นให้เจริญได้  แต่จะเว้นเสียไม่แสดงความพอใจ  อันเกิดขึ้นในใจแล้วอีกอย่างหนึ่งไม่ได้  คือ  ดีใจว่า  วัดเทพศิรินทร์ได้สมภารอันพึงหวังใจได้ดังนี้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

( พระบรมนามาภิไธย )  สยามินทร์

          ครั้นถึงวันที่  20  กันยายน  พ.ศ. 2442  มีพระบรมราชโองการทรงตั้งเป็นกรรมการในมหามกุฎราชวิทยาลัย         มีสำเนาทรงตั้งดั่งนี้

          สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์  พระจุลจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม  ผู้ปกครองอุปถัมภ์มหามกุฎราชวิทยาลัย  โดยพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระบรมพุทธศาสนา  และความหวังพระราชหฤทัยต่อการเชิดชูเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมชนกนาถ  พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

          ตั้งพระอมราภิรักขิต  เป็นกรรมการในมหามกุฎราชวิทยาลัย  ขอพระคุณจงมีอัธยาศัยประกอบไปด้วยความกรุณามีวิริยะอันแรงกล้าในการที่จะบำรุงวิทยาลัยให้เจริญ  จำแนกพระปริยัติธรรมสรรพวิทยาศาสโนวาทให้แพร่หลายไพบูลย์ยิ่งขึ้น  ด้วยความกตัญญูพระคุณพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระเดชพระคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ขอให้พระคุณมีความผาสุกสิริสวัสดิ์เจริญในพระบรมพุทธศาสนาสืบไปสิ้นกาลนาน ฯ เทอญ

          พระราชทานแต่  ณ วันที่  20  กันยายน  รัตนโกสินทร์สก 118 เป็นปีที่  32  หรือวันที่  11271  ในรัชกาลปัตยุบันนี้

          ต่อมาปีขาล  พ.ศ. 2445  ทรงเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่พระราชมุนี  มีสำเนาดั่งนี้

          ให้เลื่อนพระอมราภิรักขิต  เป็นพระราชมุนีตรีปิฎกาลังการ  สถิต  ณ  วัดเทพศิรินทราวาส  ราชวรวิหาร           พระอารามหลวง  มีนิตยภัตต์ราคาเดือนละ  4  ตำลึง  1  บาท  มีฐานานุศักดิ์  ควรตั้งฐานานุกรมได้  3  รูปคือ  พระครูปลัด  1  พระครูสมุห์  1  พระครูใบฎีกา  1  รวม  3  รูป

          ครั้นถึงวันที่  19  กรกฎาคมในปีนั้น  โปรดให้เป็นเจ้าคณะมณฑลมีสำเนาทรงตั้ง  ดั่งนี้

          สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์  พระจุลจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม  ผู้เป็นพระบรมพุทธศาสนูปถัมภก  มีพระราชประสงค์จะทรงทำนุบำรุงสังฆมณฑลให้เจริญยิ่งขึ้นเป็นการสืบพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองถาวรสืบไป

          มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนาพระราชมุนี  ตรีปิฎกาลังการ สถิต ณ วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร  เป็นเจ้าคณะมณฑลปราจีนบุรี  ขอพระคุณจงมีอัธยาศัยประกอบไปด้วยวิริยะอันแรงกล้า  ในการที่จะจัดการคณะสงฆ์      ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ และให้พระปริยัติธรรมสรรพวิทยาศาสโนวาทแพร่หลายไพบูลย์ยิ่งขึ้น ขอให้พระคุณมีความผาสุกสิริสวัสดิ์เจริญในพระบรมพุทธศาสนาสืบไปสิ้นกาลนานเทอญ

          พระราชทานตำแหน่งนี้  แต่วันที่  19  กรกฎาคม  รัตนโกสินทร์สก  121  เป็นปีที่  35  หรือวันที่  12303  ในรัชกาลปัตยุบันนี้ 

          เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ  ปฏิบัติการสนองพระเดชพระคุณได้  3  ปี  ประจวบกับโรคเบียดเบียนทำให้ทุพพลภาพไม่สามารถจะดำรงตำแหน่งนั้นต่อไป  จึงทูลลาออก  เพื่อพักผ่อนรักษาร่างกายตามควร

          ปีมะเมีย  พ.ศ. 2449  โปรดเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระเทพกวีมีสำเนาดั่งนี้

          ให้เลื่อนพระราชมุนี  เป็นพระเทพกวี  ศรีวิสุทธินายก  ตรีปิฎกปรีชา  มหาคณฤศร  บวรสังฆารามคามวาสี  สถิต  ณ  วัดเทพศิรินทราวาส  ราชวรวิหาร  พระอารามหลวง  มีนิตยภัตต์ราคาเดือนละ  6  ตำลึงกึ่ง  มีฐานานุศักดิ์ควรตั้งฐานานุกรมได้  4  รูป    พระครูปลัด  1    พระครูสังฆวิชัย  1     พระครูสมุห์  1    พระครูใบฎีกา  1    รวม  4  รูป

          ต่อมาปีมะแม  พ.ศ. 2450  สมเด็จพระมหาสมณเจ้า  กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  ทรงตั้งให้เป็นพระอุปัชฌายะ  ในวัดเทพศิรินทราวาส  และในมณฑลปราจีนบุรี  ฝ่ายธรรมยุตติกาทั้งหมด  และวัดเสน่หา  อำเภอเมืองนครปฐม  กับวัดสัมปทาน  อำเภอนครชัยศรี  จังหวัดเดียวกันนั้นด้วย

          ในรัชกาลที่  6  เมื่อวันที่  25  มกราคม  พ.ศ. 2453  โปรดให้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระธรรมไตรโลกาจารย์        มีสำเนาประกาศดั่งนี้

          อนึ่งทรงพระราชดำริว่า  พระราชาคณะที่ดำรงคุณธรรมปรีชาสามารถสมควรจะเลื่อนอิสริยยศและพระสงฆ์        ที่สมควรจะเป็นพระราชาคณะมีอีกหลายรูป

จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระเทพกวี  เป็นพระธรรมไตรโลกาจารย์   ปรีชาญาณดิลก-  ตรีปิฎกคุณาลงกรณ์  ยติคณิศร  บวรสังฆารามคามวาสี  สถิต  ณ  วัดเทพศิรินทราวาส  ราชวรวิหาร  พระอารามหลวง          มีนิตยภัตต์ราคาเดือนละ  28  บาท  มีฐานานุศักดิ์ควรตั้งฐานานุกรมได้  6  รูป    พระครูปลัด  1   มีนิตยภัตต์เดือนละ            4  บาท  1     พระครูวินัยธร  1    พระครูวินัยธรรม  1  พระครูสังฆพินิจ  1     พระครูสมุห์  1    พระครูใบฎีกา  1  รวม  6  รูป

          ถึงปีมะเส็ง  พ.ศ. 2460  สมเด็จพระมหาสมณเจ้า  กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  ทรงตั้งให้เป็นแม่กองสอบวิชานักธรรมตรีในมณฑลปราจีนบุรี  เป็นกรรมการในสนามหลวงสอบความรู้พระปริยัติธรรมเป็นกรรมการในมหาเถรสมาคมโดยลำดับ  ในปีวอก  พ.ศ. 2463  เป็นแม่กองสนามสาขาแห่งสนามหลวง  และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า  กรมพระยาวชิร-ญาณวโรรส   ทรงตั้งให้เป็นแม่กองสอบนักธรรมสนามมณฑลจันทบุรีด้วยในปีนั้น

          ต่อมา  เมื่อวันที่  24  กันยายน  พ.ศ. 2464  โปรดให้สถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นที่พระสาสนโสภณ  เจ้าคณะ      รองคณะธรรมยุติกนิกาย  จารึกนามในหิรัญบัฎ  มีสำเนาประกาศดั่งนี้

          อนึ่งทรงพระราชดำริว่า  พระธรรมไตรโลกาจารย์เป็นผู้มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎกสุตาคมได้สอบไล่ได้ ถึงชั้นบาเรียนเอกในมหามกุฎราชวิทยาลัยชั้นบาเรียนเอก  7   ประโยค  มีความอุตสาหะวิริยภาพ  รับภาระเป็นอาจารย์สอนพระปริยัติธรรมแก่ภิกษุ  สามเณรในวัดเทพศิรินทราวาสมาแต่ในรัชกาลที่  5  ภายหลังโปรดให้เป็นเจ้าอาวาสวัดเทพศิริน- ทราวาส  เป็นผู้มั่นคงในสมณปฏิบัติ  มีศีลาจารวัตร์เป็นที่น่าเลื่อมใส  มีความรอบรู้ในอรรถธรรมชำนาญเชิงเทศนาโวหารอรรถาธิบายเป็นที่นิยมนับถือแห่งศาสนิกบริษัท  ทั้งคฤหัสถ์บรรพชิตเป็นอันมาก  และเป็นผู้ที่ได้กระทำคุณประโยชน์ในทางทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา  และการศึกษาให้เจริญมาเป็นอันมาก  มีอาทิ  คือได้เป็นกรรมการแห่งมหามกุฎราช-วิทยาลัย  เป็นเจ้าคณะมณฑลปราจีนบุรี  และเป็นพระอุปัชฌายะให้บรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตร  ในวัดเทพศิรินทราวาส  และในมณฑลปราจีนบุรี    ฝ่ายธรรมยุตติกาทั่วไป  ทั้งได้เป็นแม่กองสอบวิชานักธรรมชั้นตรีในสนามมณฑลปราจีนบุรี  และเป็นกรรมการในมหาเถรสมคม  เป็นกรรมการสอบความรู้พระปริยัติธรรมในสนามหลวง  และเป็นแม่กองสนามสาขาแห่งสนามหลวงเป็นต้น  พระธรรมไตรโลกาจารย์  มีความอุตสาหะปฏิบัติการในตำแหน่งต่าง ๆ โดยเรียบร้อยสม่ำเสมอ  อีกประการหนึ่ง  เมื่อพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธทรงผนวช  ได้ทรงวิสาสะคุ้นเคยกับพระธรรม-ไตรโลกาจารย์  ก็ได้ตามเสด็จพระราชดำเนินในกระบวนด้วยตลอดทางได้ทรงมีโอกาสทรงทราบคุณสมบัติของพระธรรม-ไตรโลกาจารย์  โดยตระหนักแน่  สมควรจะเพิ่มสมณศักดิ์ให้ดำรงตำแหน่งอันสูงได้  จึ่งมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนาเลื่อนพระธรรมไตรโลกาจารย์เป็นพระราชาคณะมีราชทินนามตามจารึกในหิรัญบัฎว่า  พระสาสนโสภณ  วิมล-ญาณอดุลย์ตรีปิฎก  คุณประสาทนวิภูสิต  ธรรยุติคณิศร  บวรสังฆาราม  คามวาสี  สังฆนายก  สถิต  ณ  วัดเทพศิรินทราวาส  ราชวรวิหาร  พระอารามหลวง  เจ้าคณะรองธรรมยุตติกนิกาย  มีฐานานุศักดิ์  ควรตั้งฐานานุกรมได้  8  รูป  คือพระครูปลัดอรรถจริยานุกิจพิพิธธรรมโกศลวิมลสุตาคม  อุดมคณานุนายกตรีปิฎกญาณวิจิตร์  1  พระครูวินัยธร  1  พระครูธรรมธร  1  พระครูพิสิษสรเวท  1  พระครูพิเศษสรวุฒิ  1  พระครูสังฆวุฒิกร  1  พระครูสมุห์  1  พระครูใบฎีกา  1  รวม  8  รูป

          ถึงวันที่  20  กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2467  ทรงตั้งให้เป็นเจ้าคณะมณฑลปราจีนบุรี  และมณฑลจันทบุรี

          ต่อมาเมื่อ  พ.ศ. 2469  ทรงตั้งให้เป็นกรรมการในราชบัณฑิตยสภา  พ.ศ. 2471  ทรงตั้งให้เป็นกรรมการที่ปรึกษาในการทำนุบำรุงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  ถึงเดือนพฤศจิกายนในศกนั้นเอง  โปรดให้สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระพุทธ-โฆษาจารย์  ดำรงฐานันดรมหาสังฆนายก  เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ  จารึกนามในสุพรรณบัฎ  มีข้อความประกาศสถาปนาตามใบกำกับสุพรรณบัฎดั่งนี้

          ศุภมัสดุ  พระพุทธศาสนายุกาลเป็นอดีตภาคล่วงแล้ว  2471  พรรษา  ปัจจุบันนสมัยสูรยคตินิยมนาคสมพัตสร  พฤศจิกายนมาส  ษัษฐสุรทิน  มงคลวารโดยกาลบริจเฉท

          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก  มหันตเดชนดลกรามาธิบดี เทพยปรียมหาราชรวิวงศ อสัมภิน พงศพีระกษัตร  บุรุษรัตนราชนิกโรดม  จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ  อุภโตสุชาตสำ  ศุทธเคราหณี  จักรีบรมนาถ  จุฬาลงกรณ  ราชวรางกูร  มหามกุฎวงศวีรสูรชิษฐ  ราชธรรมทศพิธอุต์กฤษฏนิบุณ  อดุลยกฤษฎาภินีร์หาร  บูรพาธิการสุสาธิต  ธันยลักษณวิจิตรเสาภาคยสรรพางค์  มหาชโนตมางคมานท  สนธิมตสมันตษมาคม  บรมราชสมภาร  ทิพย-เทพาวดาร  ไพศาลเกียรติคุณ  อดุลยศักดิเดช  สรรพเทเวศปริยานุรักษ  มงคลลัคนเนมาหวัย   สุโขทัยธรรมราชา               อภิเนาวศิลปศึกษาเดชนาวุธ  วิชัยยุทธศาสตรโกศล  วิมลนรรยพินิต  สุจริตสมจารภัทรภิชญานประติภานสุนทร  ประวรศาสโนปสดมภก  มูลมุขมาตยวรนายกมหาเสนานี  สราชนาวีพยูหโยธโพยมจร  บรมเชษฐโสทรสมมตเอกราชชย-ยศสธิคมบรมราชสมบัติ  นพปฎลเศวตฉัตราดิฉัตร   ศรีรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเษกาภิษิกต์  สรรพทศทิควิชิตเดโชไชย  สกลมไหศวรยมหาสวามินทร  มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม  บรมนาถชาติอาชันยาศรัย  พุทธาทิไตรรัตน-ศรณารักษ์   วิศษฎศักดิอัครนเรศวราธิบดี  เมตตากรุณาศีตลหฤทัย  อโนปไมยบันยการ  สกลไพศาลมหารัษฎราธิบดินทร  ปรมินทรธรรมิกมหาราชาธิราช  บรมนาถบพิตร  พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

          ทรงพระราชดำริว่า  พระสาสนโสภณ  ดำรงในรัตตัญญูมหัตตาธิคุณ  มีปรีชาญาณแตกฉานในมคธปริวรรตน์และอรรถธรรมวินัยดก้วยดี  ตั้งอยู่ในสพรหมจารีวิหารโดยสมณากัปปมรรยาท  มั่งคงดำรงจาตุปาริศุทธศีลสมบัติไม่ท้อถอย  เป็นที่บังเกิดประสาทการแก่พุทธมามกชนทุกชั้น  มีอาตมาหิตและปาหิตกรณคุณตามความประกาศสถาปนาเป็นเจ้าคณะรองฝ่ายธรรมยุตติกนิกาย  เมื่อพระพุทธศาสนายุกาล  2464  พรรษานั้นแล้ว  ต่อมาพระสาสนโสภณยิ่งเจริญด้วยอุตสาห-วีรยภาพไม่ย่อหย่อนในการประกอบศาสนากิจให้รุ่งเรืองสมกับเป็นธรรมทายาท  อนึ่ง  พระธรรมเทศนามงคลวิเศษกถา  เป็นเทศนาพิเศษอย่างหนึ่งซึ่งพระมหาเถรเจ้าผู้ถวายย่อมทรงคุณวุฑฒิอันมโหฬาร  เป็นอุตตมคุรุสถานียบุทคลของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน  พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดให้พระสาสนโสภณถวายสืบจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส  พระสาสนโสภณได้สนองพระเดชพระคุณมาจนรัชกาลปัจจุบันด้วยความเอาใจใส่  สอดส่องทั้งพระบรมพุทโธวาทและรัฎฐภิปาล  นโยบายเป็นอย่างดี  และเป็นผู้กระทำคุณประโยชน์ในทางบำรุงพระพุทธศาสนา  และการศึกษาพระธรรมวินัยให้เจริญมาเป็นอันมาก  มีอาทิคือ  เป็นผู้อำนวยการสอบความรู้พระปริยัตติธรรมทุกประโยคในสยามรัฎฐ  เป็นเจ้าคณะมณฑลปราจีนบุรี  และมณฑลจันทบุรีเป็นผู้ชำระพิมพ์พระบาลีไตรปิฎก  อันควรแก้ไขพิมพ์ขึ้นใหม่  และเป็นธุระในการพิมพ์พระคัมภีร์อรรถกถา  ชำระต้นฉบับให้ถูกต้องเป็นเบื้องต้นจนถึงตรวจใบพิมพ์เป็นที่สุด  และยังพยายามสั่งสอนบรรพชิตคฤหัสถ์สัทธิวิหาริกอันเตวาสิกตลอด  ประชาพุทธมามกชนทุกหมู่เหล่าให้ตั้งอยู่ในสัมมาปฏิบัติเป็นสาธุชนสัตบุรุษต้องตามพระบรมพุทโธวาท  เพราะความเป็นผู้ช่างขวนขวาย  สำเหนียกความรู้ให้เทียมทันสมควรสมัย  แสวงหาวิธีที่จะปลูกศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาให้เจริญงอกงามไพบูลย์ภีโยภาพแก่ชนนิกร  อุตส่าห์แสดงธรรมสั่งสอนเป็นเนืองนิตย์  มีวิจารณในฉันทจริตอาศยานุศัยแห่งสรรพ-เวไนย  จัดการให้ธรรมสวนมัยประโยชน์สำเร็จด้วยดีโดยนิยมแห่งกาละเทศะ  ด้วยปรีชาฉลาดในเทศนาลีลาวิธี  ดั่งที่ปรากฏอยู่ในเวลานี้  เป็นที่ทรงนับถือเป็นอันมาก  อนึ่งนอกจากกิจพระพุทธศาสนาโดยตรง  พระสาสนโสภณยังเอาใจใส่ในการศึกษาสยามอักษรศาสตร์แห่งกุลบุตรเป็นอย่างดี  ได้รับตำแหน่งเป็นกรรมการในราชบัณฑิตยสภา  และสำหรับการบริหารพระอาราม  ได้ทรงตั้งให้เป็นกรรมการที่ปรึกษาในการทำนุบำรุงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  บัดนี้พระสาสนโสภณ ก็เจริญด้วยพรรษายุกาลสถาวีรธรรม  อันให้อุปสัมปาเทตัพพาทิกิจทวียิ่งขึ้นตามทางพระวินยานุญาตเป็นหลักอยู่รูปหนึ่งในธรรมยุตติกสงฆมณฑล  มีพุทธสมัยวิมลญาณปรีชาและศีลาจารวัตรมั่นคงในธรรมปฏิบัติ  เป็นที่นิยมนับถือแห่งพุทธุปาสิตบริษัททั่วพุทธเกษตรสากล  มีนิสสิตานุยนต์แพร่หลายทั้งในสกรัฎฐ์  และวิเทศรัฎฐพุทธศาสนิกบัณฑิต  สมควรจะเป็นอุต-ดรมหาคณิสสราจารย์ที่สมเด็จพระราชา  คณะผู้ใหญ่สังฆนายก  มีอิสริยยศยิ่งกว่าสมณนิกรคามวาสีอรัณยวาสีฝ่ายเหนือทั้งปวง  เพื่อเป็นศรีแห่งพระบวรพุทธศาสนาสืบไป

          จึ่งมีพระบรมราชโองการมาณพระบัณฑูรสูรสิงหนาท  ดำรัสสั่ให้สถาปนาพระสาสนโสภณเป็นสมเด็จพระราชา-คณะมีราชทินนามตามจารึกในสุพรรณบัฎว่า  สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์  ญาณอดุลสุนทรนายก  ตรีปิฎกวิทยาคุณ  วิบุล-คัมภีร์ญาณสุนทร  มหาอุตดรคณิสสร  บวรสังฆาราม  คามวาสี  อรัณยวาสี   สถิต  ณ  วัดเทพศิรินทราวาส  ราชวรวิหาร  พระอารามหลวง  เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ   มีฐานานุศักดิ์ ตั้งฐานานุกรมได้  10  รูป    คือพระครูปลัดสัมพิพัฑฒนศีลาจารย์  ญาณวิมล  สกลคณิสสรอุตดรสังฆนายก  ปิฎกธรรมรักขิต  1  พระครูวินัยธร  1  พระครูธรรมธร  1  พระครูเมธังกร       พระครูคู่เสวต  1  พระครูวรวงศ์    พระครูคู่สวด  1  พระครูธรรมราต  1    พระครูธรรมรูจี  1  พระครูสังฆวิจารณ์  1           พระครูสมุห์  1  พระครูใบฎีกา  1.

          ขอพระคุณผู้รับราชทินนามเพิ่มอิสริยยศในครั้งนี้  จงรับธุระพระพุทธศาสนา  เป็นภาระสั่งสอนช่วยระงับอธิกรณ์และอนุเคราะห์พระภิกษุสงฆ์  สามเณรในคณะและในพระอารามตามสมควรแก่กำลัง  และอิสริยยศที่พระราชทานนี้  และขอจงจิรสถิติกาลเจริญอายุ  วรรณ  สุข  พล  ปฏิภาณ  คุณสารสิริสวัสดิวิรุฬหิไพบูลย์ในพระพุทธศาสนาเทอญ.

          ครั้นถึงวันที่  16  มกราคม  พ.ศ. 2476  พระมหาเถระบรรดาที่เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมได้ประชุมลงมติเป็นเอกฉันท์  ยกย่องท่านขึ้นเป็นประธานกรรมการมหาเถรสมาคม  บัญชาการคณะสงฆ์แทนพระองค์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า  เมื่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้า  สิ้นพระชนม์  จึงเป็นผู้บัญชาการคณะสงฆ์โดยตรงสืบมา  เมื่อทรงพระกรุณาตั้งสมเด็จพระสังฆราช  ( แพ )  วัดสุทัศน์เทพวรารามขึ้นในปี  พ.ศ. 2481  เจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์  จึงพ้นจากตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคม  รวมเวลาที่ท่านเป็นผู้บัญชาการคณะสงฆ์  4  ปี   9  เดือน  กับ  27  วัน

          ถึงสมัยประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์  พุทธศักราช  2484  เปลี่ยนระบอบการปกครองคณะสงฆ์ให้สอดคล้องต้องกันกับทางบ้านเมือง  ท่านก็ได้เป็นสมาชิกสังฆสภาโดยตำแหน่ง  และได้เป็นคณะวินัยธรชั้นฎีกา  อันเป็นคณะวินัยธรชั้นสุดยอด  ต่อมาได้เป็นหัวหน้าคณะวินัยธรคณะนี้และเป็นประธานคณะวินัยธรโดยตำแหน่งด้วย  วันที่ 28  กรกฎาคม  เป็นประธานสังฆสภา  วันที่  1   มิถุนายน 2489  ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสังฆนายก  ถึงวันที่  30  พฤษภาคม  2493  ครบ  4  ปี  ถึงกำหนดพ้นจากตำแหน่งตามวาระ  แต่โดยที่ท่านได้รับภาระบริหารการคณะสงฆ์มาด้วยความเรียบร้อย  เป็นผลดีแก่พระศาสนา  และเป็นพระมหาเถระที่เพียบพร้อมด้วยศีลาจารวัตรพรหมจริยคุณ  เป็นที่เคารพสักการะของพุทธบริษัททั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์  จึงได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสังฆนายก  บริหารการคณะสงฆ์สืบต่อมาอีก  และได้ดำรงอยู่ในตำแหน่งนี้จนถึงวันที่มรณภาพ

          เป็นอันว่า  เจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ได้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญหลายตำแหน่ง  อาทิเป็นผู้อำนวยการสอบพระปริยัติธรรมสนามหลวงทั่วพระราชอาณาจักร  15  ปี  เป็นเจ้าคณะมณฑล  2  คราว  รวม  14  ปี  เป็นผู้ถวายพระธรรมเทศนา  พระมงคลวิเสสกถา  25  ปี  เป็นประธานกรรมการมหาเถรสมาคมบัญชาการคณะสงฆ์  5  ปี  เป็นประธานสังฆสภา  เป็นประธานคณะวินัยธร  และที่สุดเป็นสังฆนายก  5  ปีเศษ  เป็นเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส  50  ปีเศษ

          ในเวลาที่ท่านเป็นผู้อำนวยการสอบพระปริยัติธรรมเป็นแม่กองสนามหลวง  เป็นแม่กองสนามมณฑล   และเป็นเจ้าคณะมณฑลนั้น  ท่านบริหารงานเหล่านี้ด้วยความเรียบร้อยไม่บกพร่องเสียหาย  เป็นที่เคารพยำเกรงของผู้น้อยทั่วไป  เป็นที่นิยมนับถือของพระเถรานุเถระผู้ร่วมงานทุกท่าน  เป็นที่ไว้วางใจและได้รับความยกย่องชมเชยจากท่านผู้ใหญ่ให้เกิดผลดีแก่พระศาสนาอย่างยิ่ง เนื่องด้วยกิจการบางอย่างในตำแหน่งดังกล่าวแล้ว  จำเป็นต้องมีรายจ่ายมาก  เป็นต้นว่า      ค่าเครื่องเขียน  สิ่งพิมพ์  ค่าพาหนะ  เจ้าหน้าที่  และผู้นำข้อสอบไปเปิดสอบตามจังหวัดต่างๆ  ที่มีการสอบทั่วประเทศ  ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ในปีหนึ่ง ๆ จำนวนไม่น้อย  แม้มีทางจะเบิกจ่ายจากเงินงบประมาณที่ได้  ท่านก็มิได้เบิกตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด

นับว่าได้ประหยัดเงินของคณะสงฆ์ในการนี้เป็นจำนวนหลายหมื่นบาท  ช่วยกิจพระศาสนาอันผู้ที่ยอมอุทิศกำลังกาย  กำลังทรัพย์  กำลังสติ  ปัญญา  ช่วยการพระศาสนาเช่นนี้ย่อมเป็นผู้หาได้ไม่ง่ายนัก.

          ในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคมบัญชาการคณะสงฆ์   และดำรงตำแหน่งสังฆนายก  อันเป็นตำแหน่งที่บริหารการคณะที่สำคัญยิ่ง  ท่านก็ได้ปฏิบัติงานด้วยความซื่อตรงเที่ยงธรรมรักษาวินัยระเบียบแบบแผนประเพณี โดยเคร่งครัดระมัดระวังรอบคอบ    ประกอบด้วยรู้จักผ่อนผันในสิ่งที่ไม่ผิดธรรม  ไม่ผิดวินัย  ระวังความแตกร้าวไม่ให้เกิดมี  สมานสามัคคีให้เกิดแก่พุทธบริษัททุกหมู่เหล่า  นำกิจการหมู่คณะให้ดำเนินไปด้วยดี  ไม่ให้ความระส่ำระสายเกิดมีขึ้นในสังฆมณฑล  ยังความเรียบร้อยในสังฆมณฑลให้เป็นไปด้วยดี  ด้วยปรีชาสามารถ  ตลอดสมัยของท่าน

          ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส  50  ปีเศษ  เอาใจใส่ดูแลรักษาวัดเป็นอย่างดี  ซ่อมแซมปฏิสังขรณ์ของเก่า  เช่นพระอุโบสถและกุฎิ  เป็นต้น  แก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นกว่าเดิม   และปลูกสร้างถาวรวัตถุเพิ่มเติม  เป็นต้นว่า  ที่อยู่ที่อาศัย  สถานการศึกษา  รวมค่าซ่อมแซมแลค่าก่อสร้างประมาณ  3,600,000.00  บาท  ทำวัดให้สะอาดสะอ้านเรียบร้อย  น่าดู  น่าอยู่   น่าอาศัย  เป็นทางนำมาซึ่งศรัทธาปสาทะแก่พุทธบริษัทเป็นอันมาก  สังหาริมทรัพย์  แลอสังหาริมทรัพย์  เช่น  ที่ดิน  ที่นา  ที่สวน  และเงินทุนของวัด  เกิดเพิ่มพูนเป็นผลประโยชน์สำหรับบำรุงพระอาราม  บำรุงภิกษุสามเณร  บำรุงการศึกษา  เป็นต้น  ประมาณราคา  6,800,000.00  บาท  ซึ่งเดิมเมื่อครองวัดมีเพียง  800  บาทเศษเท่นั้น  ทั้งนี้กล่าวแต่เฉพาะรายใหญ่ ๆ เท่าที่นึกได้  พุทธบริษัทก็เพิ่มขึ้นโดยลำดับกาล   ในวันธัมมัสสวนะ  มีอุบาสก  อุบาสิกามารักษาศีลและฟังธรรมอย่างมากถึงวันละ  800  คน  ท่านเป็นพระอุปัชฌายะบวชภิกษุ  4,847  รูป  เป็นอุปสัมปทาจารย์  364  รูป  เป็นพระอุปัชฌายะบวชสามเณร  1,455   รูป  รวมทั้งสิ้น  6,666  รูป

          ท่านเป็นผู้ฉลาดสามารถในการปกครองในการแนะนำสั่งสอน  มีความเพียรไม่เบื่อหน่ายในการที่จะอบรมศิษยานุศิษย์  และแสดงธรรมสั่งสอนพุทธบริษัท  ท่านถือเป็นกิจวัตรที่สำคัญ  ไม่จำเป็น  ไม่ขาดเลย   เป็นผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติของผู้ปกครองครบครัน  คือมีอัธยาศัยเยือกเย็น  หนักแน่น  มีเมตตา  กรุณา  มุทิตา  โอบอ้อมอารี  มีใจเป็นห่วงในความเป็นอยู่แลความประพฤติของศิษย์หวังเจริญสวัสดีแก่ศิษย์  หมั่นอบรมสั่งสอนเป็นนิตย์  แม้สึกหาลาเพศไปแล้ว  ก็ยังหวังดีอุตส่าห์ตักเตือนพร่ำสอนเมื่อมีโอกาส  มีของกินของใช้ก็แบ่งเฉลี่ยให้ตามกาล  เมื่ออาพาธป่วยไข้ก็หมั่นเยี่ยมเยียนถามอาการ  หาหมอมาพยาบาลรักษาช่วยค่ายาค่ารักษา  ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่เคารพนับถือสักการบูชาของบรรดาศิษยานุศิษย์สาธุชนผู้ได้รับอุปการคุณนั้น ๆ ทั่วกันไม่คืนคลาย

          ท่านเป็นผู้ไม่สะสม  พอใจในการสละสิ่งของที่ได้มาบริจาคเป็นบุญเป็นกุศลแทบทั้งสิ้น  แจกภิกษุสามเณรในวัดบ้าง  ศิษย์วัดบ้างตามควรแก่บรรดามีบ้าง  ให้หาเพิ่มเติมบ้าง  จัดเป็นเครื่องบูชา  มีแจกัน  พาน  กระถางธูป  เชิงเทียนเป็นต้นชุดละ   50  ชิ้นเป็นอย่างน้อย  ส่งไปถวายวัดที่ขาดแคลนในต่างจังหวัด  วัดละชุดบ้าง  2  ชุดบ้าง  บางวัดก็ถึง  3  ชุด  ประมาณ  270  วัด  พิมพ์หนังสือแจกเป็นธรรมทานด้วยทุนของท่านบ้างผู้อื่นช่วยบ้าง  ประมาณ  100  เรื่อง  คิดเป็นเล่มหนังสือประมาณ  400,000   เล่ม  พิมพ์ไหว้  5  ครั้ง  แจกกรม  กอง  หน่วยราชการ  ทหาร  พลเรือน  นักเรียน  ประชาชน  ตลอดถึงผู้ต้องขังทั่วราชอาณาจักรประมาณ  1,500,000  แผ่น  นอกจากนี้ยังได้กระทำประโยชน์อันเป็นสาธารณะอีกมาก  กล่าวเฉพาะส่วนใหญ่คือ

          ขุดสระขังน้ำฝนที่วัดเขาบางทราย  และชาวตำบลอื่นที่ใกล้เคียงได้อาศัยบริโภคใช้สอยตลอดหน้าแล้งและหน้าฝน  เพราะตำบลเหล่านั้นใกล้ทะเล  มีแต่น้ำเค็ม  กันดารน้ำจืด

          สร้างโรงเรียนเป็นตึกคอนกรีต  2  ชั้น  2  หลัง  อยู่ในเขตวัดเขาบางทราย  ชลบุรี  มอบให้ทางการ  เปิดสอนนักเรียน  ตั้งแต่ชั้นมัธยมปีที่  1  ถึงปีที่  6

          ซ่อมพระอุโบสถวัดเขาบางทรายชลบุรี  เปลี่ยนแปลงจากเดิมขยายให้กว้างขวางงดงามยิ่งขึ้น  ประตูหน้าต่างเขียนลายรดน้ำลงรักปิดทองประดับกระจก  เขียนลายผนัง  ติดดาวเพดาน  หลังคามุงกระเบื้องเคลือบประกอบช่อฟ้าใบระกา

          สร้างตึกผ่าตัดให้แก่โรงพยาบาลจังหวัดชลบุรี  1  หลัง  เป็นคอนกรีตทั้งหลัง  มีเครื่องใช้เครื่องมือและเครื่องอุปโภคในการผ่าตัดทันสมัยอย่างครบถ้วน  นอกจากนี้ยังช่วยปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมกุฎี  วิหาร  ศาลา  ถนนหนทาง  และโรงเรียนเป็นต้น  ทั้งที่วัดเขาบางทรายและวัดอื่น ๆ ในจังหวัดชลบุรีอีกหลายแห่ง  ทั้งหมดนี้ด้วยทุนทรัพย์ส่วนขององค์ท่านตามกำลังเป็นส่วนมากมิได้เคยออกปากเรี่ยไรผู้อื่น  เมื่อผู้อื่นทราบมีศรัทธาเลื่อมใสก็บริจาคร่วมสมทบด้วย  แม้กุฎีที่อยู่อาศัย  จะปฏิสังขรณ์หรือเพิ่มเติม  เช่นติดกระเบื้องฝา  ทาสี  เป็นต้น  หรืออื่นใด  ท่านก็ทำไปด้วยทุนทรัพย์ส่วนองค์เอง  มิได้ออกปากใครต่อเมื่อมีผู้เห็นเข้า  ศรัทธาก็ถวายช่วยด้วย  เรื่องจะเอาเปรียบบุคคล  เอาเปรียบวัด  เอาเปรียบศาสนาแม้โดยปริยายไร ๆ ท่านไม่นิยม  ดังนั้นเวลาถึงมรณภาพลง  จตุปัจจัยส่วนองค์เองจึงไม่มีเหลืออยู่เลย  ท่านเป็นผู้ที่เจ้านาย  ข้าราชการ  คฤหบดี  เลื่อมใสเป็นส่วนมาก  แลเป็นกุศลปก  คือเป็นพระประจำพระตระกูลของเจ้านายลางพระองค์  ถึงอย่างนั้นไม่มีธุระเป็นก็ไม่ไปเฝ้าหรือไปมาหาสู่ จะไปก็ไปเป็นกิจจะลักษณะท่านปลูกแลทำนุบำรุงศรัทธาเลื่อมใสของท่านนั้น ๆ ด้วยคุณธรรมแท้ ๆ  จึงเป็นแท่นบูชาแห่งคุณธรรมความดีโดยส่วนเดียวของสาธุชน  โวหารลางอย่างที่โลกนิยมใช้กัน  เช่นมีความรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง  คำว่า  เป็นอย่างยิ่ง  ท่านก็ไม่ใช้โดยอ้างถึงเจตนาว่า   ไม่รู้สึกอย่างยิ่งเช่นนั้น  ท่านเป็นผู้นิยมความกตัญญูกตเวทีนัก  แลถือเป็นข้อหนึ่งสำหรับอบรมสั่งสอนศิษยานุศิษย์  ท่านเคยอ้างว่า  องค์ท่านเองได้เจริญรุ่งเรืองมาเช่นนี้ก็เพราะดีต่อโยม  ใครเคยมีคุณมามักประกาศคุณนั้น ๆ ให้ปรากฏไม่ลืมเลือนแลหาทางสนองคุณสมนาคุณในโอกาส.

          เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ  เป็นผู้ถือเคร่งครัดในพระวินัยไม่ยอมประพฤติล่วงพระบัญญัติ  แม้ในสิ่งที่ผู้อื่นโดยมากเห็นว่าเล็กน้อย  เป็นผู้มีศีลาจารวัตรอันงามไม่บกพร่องด่างพร้อยแต่ประการไร  กิจวัตรนอกจากสวดมนต์ไหว้พระทำกัมมัฏฐานภาวนาที่กุฏีที่อยู่  แล้วสวดมนต์ไหว้พระประจำวันทุกเช้าเย็นไม่จำเป็นท่านไม่ยอมขาด  ทำตนเป็นผู้นำที่ดียิ่งและยังได้แนะนำชักชวนภิกษุสามเณรในวัดให้ปฏิบัติโดยเคร่งครัด  ตลอดถึงได้ชักชวน เพื่อนสหพรหมจารีต่างวัดให้ช่วยกันทำนุบำรุงกิจวัตรแผนกนี้   ซึ่งถึงจะเป็นกิจวัตรพื้น ๆ   แต่ก็นับว่าสำคัญประการหนึ่งอยู่เสมอในเมื่อมีโอกาส  การฟังพระปาฏิโมกข์ทุกกึ่งเดือน  ตั้งแต่อุปสมบทจนถึงวันมรณภาพขาดเพียง  2  ครั้ง  ในเวลาอาพาธหนักไม่สามารถจะลุกนั่ง        แลพลิกองค์เองได้แล้ว  ท่านก็ยังแสดงความประสงค์จะลงฟังพระปาฏิโมกข์เมื่อวันอุโบสถมาถึงเข้า  แต่ไม่มีผู้ใดจะปฏิบัติตามความประสงค์ของท่านได้เพราะเห็นว่าท่านอาพาธหนักมาก  ถ้านำท่านลงไปอาจถึงเป็นอันตรายได้  การงานทุกอย่างที่ท่านทำมีระเบียบเรียบร้อยสม่ำเสมอเป็นเวลาไม่มากก็น้อย  สิ่งไรที่ท่านทำเองได้   ท่านไม่รบกวนผู้อื่นแม้แต่ศิษย์ด้วยความเกรงใจ แม้ศิษย์จะสมัครใจยินดีทำถวายลางอย่าง เช่นช่วยถือบริขารเครื่องใช้สอยเป็นต้นว่าย่ามติดตามเมื่อไม่จำเป็น      ท่านก็ไม่ยอมโดยอ้างว่า  ใคร ๆ เขาจะเห็นว่าเป็นเจ้ายศเจ้าอย่างไป   กิจการลางประการ  ซึ่งต้องใช้พระเดช  อันท่านเอง     ก็สมควรแล้วที่จะใช้ได้ทุกประการ  ท่านก็มักผ่อนลงมาเป็นใช้พระคุณโดยมาก  โดยปรารภว่าวาสนาบารมีน้อยไม่ควร    แก่พระเดชนัก  อันผู้สูงศักดิ์มีวาสนาบารมีเมื่อจะทำกิจการไร ๆ ยังหวนระลึกถึง  อตฺตญฺญฺตา  มตฺตญฺญฺตา  รู้ตน  รู้ประมาณอันเป็นสัปปุริสธรรม   ทั้งต่อหน้าแลลับหลังเช่นนี้  น่าเคารพบูชาของสาธุชนทั้งหลายนัก  ท่านเป็นผู้ไม่มัวเมาในยศศักดิ์ตำแหน่งหน้าที่การงาน  ไม่เห็นแก่อามิสลาภยศชื่อเสียง  ไม่ขวนขวายที่จะได้ตำแหน่งหน้าที่การงานนั้น ๆ แต่ด้วยเห็นแก่พระศาสนาจึงยอมรับตำแหน่งหน้าที่อันมาถึงตามกาลตามสมัย  เมื่อรับทำสิ่งไรแล้วก็ตั้งใจจะทำจริงไม่ทอดทิ้ง  ทำดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วยความแช่มชื่นไม่ฝืนใจทำ  มีความเพียรอดทนไม่ท้อถอย  ทำตามกำลังสามารถ  ลางอย่าง  ลางโอกาส     ถึงออกปากว่า  ถ้าไม่ไหวก็ขอคืน  ไม่ฝืนไว้ด้วยอาลัย  ท่านไม่ถือความเห็นของตนเป็นใหญ่  สิ่งไรทำพลาด  เป็นผู้รู้จัก    ผิดเป็น  ยอมทำใหม่แก้ไขให้ถูก  ยอมเปลี่ยนแปลงแก้ไข  ในเมื่อมีผู้ทักท้วง  มีเหตุผลเป็นธรรมเป็นวินัย  ไม่ปล่อยให้สิ่งผิดแล้วเลยตามเลย  หรือขืนทำไปทั้ง ๆ ที่เห็นว่าผิด  ท่านจึงเป็นผู้รู้อย่างที่กล่าวยกย่องว่า  ไม่เมาในความรู้ไม่มีชนิดที่เรียกว่า  เอาสีข้างเข้าดัน  อันเป็นมลทินของผู้รู้  แต่ว่าเป็นผู้ถ่ายถอนถือเอาแต่ยุติที่ชอบด้วยเหตุผล  เป็นธรรม  เป็นวินัย  เป็นประมาณ  มีธรรมวินัยเป็นใหญ่  มีธรรมวินัยเป็นธงชัย  มายอมให้มานะทิฐิหรือเล่ห์กลใด ๆ เข้ามาปะปนแฝงอยู่  จึงเป็นหลักในความรู้และความเป็นที่เชื่อถือไว้วางใจได้สนิท  เป็นผู้ตรงไปตรงมาไม่มีแง่งอนมายาเป็นปฏิปทาของสาวกสงฆ์ข้อ  อุชุปฏิปนฺโน  คือเป็นผู้ปฏิบัติตรง  ท่านเป็นผู้มีความอดกลั้นเป็นอย่างดี  มีความสงบเสงี่ยม  ไม่เคยแสดงอาการผลุนผลันให้ปรากฏไม่เคยพูดคำหยาบ  กล่าวแต่คำอ่อนหวาน  ไม่พูดให้เจ็บใจคนอื่น  ไม่พูดเสียดสีกระทบกระทั่งนินทาว่าร้ายผู้อื่น  องค์ท่านเคยปรารภเป็นเชิงสอนว่า  คนเรานั้นมีอาวุธพิเศษสำหรับป้องกันตัวอย่างหนึ่งคือนิ่ง  ไม่ต่อปากต่อคำ  ต่อความยาวสาวความยืด  อันเป็นเหตุให้เรื่องนั้น ๆ ไม่สุดสิ้น  ปฏิปทานี้ท่านถือเป็นแนวปฏิบัติประการหนึ่ง  จึงนิยมในการรู้แล้ว  เลิกแล้วกันไปไม่ถือสาหาความอีก  ไม่มีเวรไม่มีภัยกับใคร ๆ แม้ผู้ที่ถือโกรธท่าน ๆ ก็ไม่โกรธตอบ  กลับหาทางสมัครสมานคืนดี  เรื่องไม่ดีของผู้อื่นเป็นไม่พูดถึงมีผู้พูดก็ห้ามเสีย  เรื่องการบ้านการเมือง  รบราฆ่าฟัน  อันไม่ใช้กิจสมณะไม่พูดเกี่ยวถึงเลย  มีผู้พูดถ้าเป็นพูดน้อยก็ห้ามเสีย   ถ้าเป็นผู้ใหญ่ท่านก็ยิ้ม ๆ รับฟังโดยมารยาท  ท่านมีอาการสงบสม่ำเสมอ       ไม่โลเลสับปลับ  ไม่พูดถ้อยคำไร้สาระ  พูดแต่สิ่งที่เป็นงานเป็นการ  ประกอบด้วยอรรถด้วยธรรม  มีประโยชน์  ไม่พูดเล่นตลกคะนองแต่ไหนแต่ไรมา.

          ท่านทำองค์ของท่านเป็นเนติแบบอย่าง  สมกับเป็นผู้นำหมู่คณะ  เป็นผู้ปกครองศิษยานุศิษย์  บริษัท  บริวาร  ตลอดถึงคณะสงฆ์   เป็นพระอุปัชฌาอาจารย์ของคนทุกชั้น  สิ่งไรที่ท่านสอนให้คนอื่นละเว้นไม่ให้ทำไม่ให้ประพฤติ  องค์ท่านเองย่อมละเว้น  ไม่ทำไม่ประพฤติด้วย  ไม่เป็นแต่เพียงสอนหรือห้ามผู้อื่นฝ่ายเดียวเท่านั้น  ท่านเป็นผู้เคารพนับถือผู้ใหญ่เหนือตน  ปฏิบัติตามบังคับบัญชาในสิ่งที่ถูกที่เป็นธรรมอย่างครบถ้วน  แต่ถ้าสิ่งไรเป็นผิดเป็นเสียแล้วก็ไม่ยอมร่วมด้วย  ระเบียบแบบแผนประเพณีอันใดที่ทางคณะสงฆ์บัญญัติไว้เป็นธรรมเป็นวินัย  ท่านถือว่าปฏิบัติตามโดยไม่บกพร่องนี้เป็นเนติอีกประการหนึ่งคือดีทั้งปกครองเขา  แลเขาปกครองก็ดีด้วย 

ทราบว่าเมื่อครั้งท่านสอบไล่ภาษาบาลีในมหามกุฎราชวิทยาลัยได้ที่ 1 ทุกชั้นเป็นลำดับมาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า  กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  ออกพระโอษฐ์รับสั่งว่า  ตาบุญ  ( คือพระยาธรรมปรีชาผู้เป็นอาจารย์ภาษาบาลีของเจ้าพระคุณ )  มอมช้างเผือกส่งเข้ามา  จึงได้เป็นผู้ที่ทรงโปรดปราน  เป็นผู้ที่ทรงปรึกษาทางด้านวิทยาการ  แลด้านการปกครองคณะสงฆ์องค์หนึ่ง  จนกาลที่สุดคือเมื่อจวนจะสิ้นพระชนม์  ก็ยังโปรดให้เจ้าพระคุณซึ่งในเวลานั้นดำรงตำแหน่งฐานันดรสมณศักดิ์ที่พระธรรมไตรโลกาจารย์  เข้าเฝ้าถวายธรรมลางประการเป็นครั้งสุดท้าย

 

เจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์อาพาธเป็นโรคเนื้องอกที่ตับ  มีอาการเบื่ออาหารและอ่อนเพลียมาโดยลำดับ  นายแพทย์ได้ตรวจพบเมื่อวันที่  31  มีนาคม  พ.ศ. 2494  พักรักษาตัวอยู่  ณ  วัดเขาบางทราย  จังหวัดชลบุรีประมาณเดือนเศษ  อาการไม่ดีขึ้นถึงวันที่  4  พฤษภาคม  พ.ศ. 2494  ทางคณะสงฆ์กรมการศาสนาและกรมการแพทย์ส่งนายแพทย์ไปรับท่านมารักษาพยาบาล  ณ  วัดเทพศิรินทราวาส  นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิเชี่ยวชาญเป็นต้นว่า  หลวงนิตยเวชวิศิษฐ์   พระอัพภันตราพาธพิศาล  นายแพทย์ใช้  ยูนิพันธ์  ได้ถวายการรักษาพยาบาลจนสุดความสามารถ  แต่โรคชนิดนี้ยังไม่พบวิธีที่จะรักษาให้หายได้  เป็นโรคที่ทรมานเท่าที่ปรากฏผู้ที่เป็นโรคชนิดนี้มักได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัส  แต่องค์ท่านแม้ได้รับทุกขเวทนาเห็นปานนั้นก็สงบระงับไม่ยอมให้ทุกขเวทนานั้นครอบงำ  มีสติสัมปชัญญะ  ส่อให้เห็นคุณธรรมลางประการ  อันท่านได้อบรมมาเป็นเวลานาน  ไม่ครั่นคร้านต่อมรณภัยอันคุกคามอยู่  สู้อุตส่าห์แนะนำพร่ำสอนโดยย่อ ๆ ถึงคุณพระรัตนตรัย  แลความจริงของสังขารกับทั้งความน่าเบื่อหน่ายในชาติภพ  แลให้ศีลให้พรแก่ผู้ที่มาเยี่ยมเยียนแลรักษาพยาบาลจนที่สุดถึงมรณภาพด้วยอาการอันสงบเมื่อวันที่  8  มิถุนายน พ.ศ. 2494  เวลา  10.30 น. คำนวณอายุได้  80  ปี  โดยปีพรรษา  59

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ  พระราชทานน้ำสรงศพ  และพระราชทานโกศไม้สิบสอง  ประดับพุ่มและพู่เฟื่อง  ฉัตรเครื่องสูง  มีแตร จ่าปี่  จ่ากลองและกลองชนะ ประโคมเป็นเกยรติยศ  ประดิษฐานโกศ  ณ กุฎีที่อยู่วัดเทพศิรินทราวาส มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมเป็นของหลวง  3  วัน  และทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ  ให้ประกอบการพระราชกุศลทักษิณานุสรณ์  พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ในสัตมวารแรก  ต่อจากนั้นมีเจ้านายคณะรัฐมนตรีข้าราชการ        คณะสงฆ์  ภิกษุสามเณร  อุบาสกอุบาสิกา  ศิษยานุศิษย์และผู้เคารพนับถือได้ทรงบำเพ็ญและบำเพ็ยกุศลถวายติดต่อกันมาเป็นลำดับ  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ  ให้จัดการพระราชทานเพลิงศพ  ณ  สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส  วันที่  2  มีนาคม  พ.ศ. 2495  และเสด็จพระราชดำเนินทั้งสองพระองค์

ประวัติและคุณสมบัติทั้งส่วนอัตตสมบัติแลปริหิตปฏิบัติของเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์  ญาณวรเถระ  เท่าที่ได้รำพันมานี้ชี้ให้เห็นว่า   เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ  ได้อาศัยความเป็นผู้มีบุญอันได้ทำไว้แล้วในกาลก่อน  เป็น  ปุพฺเพกตปุญญตา  อันท่านผู้รู้เรียกว่า  วาสนาแรกเริ่มนำให้มาอยู่ในถิ่นอันสมควร  เป็นปฏิรูปเทสวาสคบหาศึกษาวิทยาการกับผู้ทรงคุณวุฒินั้น ๆ เป็น  สปฺปุริสูปสฺสย  คือคบสัตบุรุษกับทั้งตั้งองค์ท่านเองไว้ในที่ชอบ  ประกอบด้วยสุจริตธรรมสัมมาปฏิบัติเป็นอตฺตสมฺมาปริธิ  ศิริรวมเป็นจักรธรรมครบ  4  ประการ  เป็นจักรสมบัติ  พัดผันนำองค์ท่านไปสู่วัฒนะ  เจริญรุ่งเรืองสุดวาสนาบารมี  กับทั้งยังประกอบด้วยญาณปรีชาอันประเสริฐเป็นเหตุสำคัญนำองค์ท่านให้ผ่านพ้นอุปสรรคภยันตรายฝ่ายหายนะ  รอดตลอดจนสุดชนม์ชีพด้วยประการฉะนี้

                                         ..................................................................................

 
 
ตะกร้าพระเครื่อง

ดูตะกร้าพระเครื่อง
แจ้งการชำระเงิน
ตรวจสอบวันจัดส่ง
สถานะการส่งพระเครื่ง

พระเครื่องแนะนำ

25-2-66
พระบูชารูปเหมือนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เจริญ


โชว์ บาท

25-2-66
พระรูปเหมือนใบธิ์ เนื้อนวโลหะ ปี 2512 แบบตอกโค๊ด


30000 บาท

25-2-66
พระนาคปรกใบขนุนเนื้อชินสังฆวานร พระสวยเดิม


9500 บาท

25-2-66
พระนาคปรกใบโพธิ์ 7 เศียร พิมพ์เล็กเนื้อนวโลหะ


AC บาท
บูชาแล้ว

25-2-66
เหรียญกนกข้างพิมพ์ใหญ่บล็อก ม.มีจุด (นิยม)


18500 บาท

25-2-66
พระไตรภาคีพิมพ์รูปเหมือนใหญ่เลี่ยมทองอย่างหนา


BD บาท
บูชาแล้ว

24/2/2566
พระปิดตา พิมพ์ตุ๊กตาใหญ่ เนื้อผงใบลาน ฝังตะกรุด


57000 บาท

24/2/2566
เหรียญเขียวในโลง หายาก เป็นเหรียญที่ใส่ไว้ในโลงท่านฯ


โทรถาม บาท

24/2/2566
พระสมเด็จ 3 ชั้นหลังยันต์นูน (เนื้อน้ำอ้อย)พิมพ์จัมโบ้


8000 บาท

21/02/66
เหรียญหลังเต่ารุ่นแรก บล็อกยันต์เคลื่อน


48000 บาท

6/10/65
เหรียญเขียวในโลง (เหรียญเอเชียนเกมส์) หายาก


โทรถาม บาท

6/10/65
พระผงหลวงพ่อพรหม รุ่นฉลองมณฑป พิมพ์ระฆังใหญ่


โทรถาม บาท

9/8/65
พระกริ่งสายฟ้า ตอกโค๊ต 1 ตัว


โทรถาม บาท

28/06/63
พระบูชารูปเหมือนท่านเจ้าคุณนรฯ รุ่นแรกหน้าตัก 5 นิ้ว


โทรถาม บาท

27/12/61
ออกใบรับรองพระแท้ ตอนนี้ท่านสามารถออกใบรับรองพระแท้ได้แล้วนะครับ ในนามร้านศักดิ์ ตลิ่งชัน


บาท

27/12/61
ออกใบรับรองพระแท้ ตอนนี้ท่านสามารถออกใบรับรองพระแท้ได้แล้วนะครับ ในนามร้านศักดิ์ ตลิ่งชัน


บาท

27/12/61
ออกใบรับรองพระแท้ ตอนนี้ท่านสามารถออกใบรับรองพระแท้ได้แล้วนะครับ ในนามร้านหมีพูห์ ปู่ทิม


บาท

27/12/61
ออกใบรับรองพระแท้ ตอนนี้ท่านสามารถออกใบรับรองพระแท้ได้แล้วนะครับ ในนามร้านโต้ ท่าพระจันทร์


บาท

19/12/61
เหรียญหลังเต่า บล็อกยันต์เคลื่อน สภาพสวยเดิม ๆ จมูกโด่ง ผิวดี สภาพนี้หายากแล้วครับ


G บาท
บูชาแล้ว

3/10/61
พระสมเด็จวัดวิเวกวนารามหลังยันต์นูนปั้มยันต์หมึก


โทรถาม บาท

22/9/60
พระรูปเหมือนปั๊ม พิมพ์เตารีดหลังยันต์ เนื้อตะกั่วชุบทอง สภาพสวยเดิม ๆ


โทรถาม บาท

25/07/2560
เหรียญเม็ดแตง หน้าผาก 3 เส้นปีกกา หัวขีด มาพร้อมเลี่ยมจับขอบฝังเพชร


โทรถาม บาท

26-04-60
ออกใบรับรองพระแท้
ตอนนี้ท่านสามารถออกใบรับรองพระแท้ได้แล้วนะครับ ในนามร้านศักดิ์ ตลิ่งชันในสายพระเครื่องของท่านเจ้าคุณนรฯ


โทรถาม บาท

11-4-60
ขันน้ำมนต์ วัดเทพศิรินทราวาส สร้างปี 2495 สภาพสวยเดิม ๆ สร้างน้อย


โทรถาม บาท

1-2-60
เหรียญกนกข้างพิมพ์ใหญ่ เนื้อเงิน บล๊อกนิยมสวยมาก มาพร้อมตลับทอง


โทรถาม บาท

พระเครื่องแนะนำทั้งหมด